กระทรวงสาธารณสุขไทย-ลาว ร่วมมือกันควบคุมการระบาดของโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มแข็ง แม้จะควบคุมได้แล้ว แต่ยังคงเฝ้าระวังเข้มงวด เผยอาการผู้ป่วยไข้หวัดนกชาวลาว ขณะนี้ยังวิกฤติ ทีมแพทย์พยาบาลดูแลใกล้ชิด มั่นใจไม่มีการแพร่เชื้อสู่คนไทยแน่นอน ขอให้คนไทยสบายใจได้ ส่วนผู้สัมผัสโรค 80 คน ยังไม่มีรายใดป่วยเพิ่ม บ่ายวันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2550) ที่กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และ ดร.จายาวิกกรัมมะราจา (Dr.P.T.Jayawickramarajah) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าว ความร่วมมือในการดูแลรักษาผู้ป่วยไข้หวัดนกชาวลาว และการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในไทย นายแพทย์มงคล กล่าวว่า จากการที่โรงพยาบาลหนองคายได้รับผู้ป่วยหญิงชาวลาวอายุ 15 ปี จากนครเวียงจันทร์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่สงสัยป่วยด้วยโรคไข้หวัดนก เข้ารักษาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 และองค์การอนามัยโลกได้รับรองผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และโรงพยาบาลศิริราช ว่าติดเชื้อไข้หวัดนก เอช 5 เอ็น 1 (H5N1) โดยกระทรวงสาธารณสุขลาวได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดนก เมื่อวันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 ขณะนี้ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในห้องแยกปลอดเชื้อ โรงพยาบาลหนองคาย ยังมีอาการหนัก การทำงานของปอดลดลง ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ไม่มีไข้ กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากกรมการแพทย์และกรมควบคุมโรคไปช่วยดูแลอย่างเต็มที่ โดยไม่คำนึงถึงค่าใช้จ่าย และได้เชิญคณะแพทย์จากฝั่งลาวมาเยี่ยมผู้ป่วย รวมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นในการดูแลรักษา ซึ่งเป็นแบบอย่างที่องค์การอนามัยโลกชื่นชมมาก ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนไทยมั่นใจในมาตรการการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกชาวลาว ว่าจะไม่มีผลกระทบต่อชาวไทยในจังหวัดหนองคาย เนื่องจากไทยมีระบบดูแลผู้ติดเชื้อที่ได้มาตรฐาน ไม่มีการแพร่เชื้อออกสู่ภายนอกอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ใช้เวลาถึง 14 วัน นับตั้งแต่เริ่มป่วยจนถึงวันที่ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้หวัดนก ซึ่งหากเชื้อสามารถแพร่จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนได้ ก็จะทำให้มีผู้ติดเชื้อจากผู้ป่วยรายนี้หลายสิบคน ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังให้มากขึ้น โดยกำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่งทั้งภาครัฐและเอกชน ที่รับรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่หรือปอดบวมที่ไม่ใช่คนไทย หรือเป็นคนไทยที่เพิ่งมาจากต่างประเทศ ต้องซักประวัติเรื่องการสัมผัสสัตว์ปีก การอยู่ในพื้นที่สัตว์ปีกตายผิดสังเกต และการสัมผัสผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่หรือปอดบวมรายอื่นๆ ด้วย หากมีประวัติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือเพียงสงสัย ให้แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อประสานประเทศต้นทางและดำเนินการร่วมกันต่อไป นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า การร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทยและลาวครั้งนี้ เป็นผลมาจากความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อกันยาวนาน โดยทั้ง 2 ประเทศมีการประชุมดูงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในระดับจังหวัด การจัดทำข้อตกลงความร่วมมือระดับกระทรวงในโครงการเฝ้าระวังโรคในลุ่มน้ำโขง ซึ่งสนับสนุนโดยมูลนิธิร๊อคกี้เฟลเลอร์ และการดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจประเทศในลุ่มน้ำอิรวดี เจ้าพระยา แม่โขง (ACMECS) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขลาวได้ส่งนักระบาดวิทยามาร่วมฝึกอบรมการเฝ้าระวังสอบสวนโรค ใน โครงการพัฒนานักระบาดวิทยาของกระทรวงสาธารณสุขไทย และส่งนักวิทยาศาสตร์การแพทย์มาฝึกทางห้องปฏิบัติการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งนี้ ในการรับมือกับโรคไข้หวัดนก รวมทั้งการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ส่งสัญญาณเตือนประเทศสมาชิกนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมการรองรับอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการเตรียมการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้ได้มาตรฐานโลก เพื่อสำรองใช้ในประเทศโดยองค์การเภสัชกรรม และในเดือนมีนาคมนี้ จะได้มีการฝึกซ้อมการรับมือกับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ภายใต้โครงการเฝ้าระวังโรคในลุ่มน้ำโขง ที่นครวัด ประเทศกัมพูชา นอกจากนี้ องค์กรระวังภัยปรมาณูยังสนใจให้การสนับสนุนในอนาคตด้วย สำหรับการเฝ้าระวังผู้ป่วยรายใหม่ ในพื้นที่ที่พบสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนก และบ้านของผู้ป่วยที่นครเวียงจันทร์ กระทรวงสาธารณสุขไทยได้ส่งทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็วจากจังหวัดหนองคาย สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 และสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ไปทำการสอบสวนโรคที่บ้านผู้ป่วยร่วมกับเจ้าหน้าที่แผนกสาธารณสุข นครหลวงเวียงจันทร์ พบว่ามีไก่ข้างบ้านผู้ป่วยและห่างไปประมาณ 100 เมตร ตายผิดปกติ แต่ญาติและบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วย รวมทั้งผู้สัมผัสใกล้ชิดทั้งของฝั่งลาวและฝั่งไทย รวม 80 คน ไม่มีใครป่วยเพิ่ม อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สาธารณสุขลาวจะติดตามอาการต่อเนื่องจนครบ 14 วัน ตามมาตรการเฝ้าระวังไข้หวัดนก กุมภาพันธ์ *********************************** 28 กุมภาพันธ์ 2550


   
   


View 9    28/02/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ