ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 15 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีช่วยว่าการสาธารณสุข เผยสัดส่วนเยาวชนไทยดื่มเหล้าสูงติดอันดับ 1 ใน 5 ของนักดื่มทั้งหมด รอบปีที่ผ่านมามีร้านขายเหล้าผุดเพิ่มถึงร้อยละ 59 ที่น่าห่วงพบโรงเรียนประถม มัธยม ร้อยละ 73 มีร้านเหล้าอยู่ในรัศมี 100 เมตร จับมือ 3 หน่วยงานจัดระเบียบร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ใช้นโยบายร้านใหม่ไม่เพิ่ม ร้านเดิมทำตามกฎหมาย ลดปริมาณนักดื่มหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชน ให้เวลาปรับปรุงแก้ไข 6 เดือน หลังจากจับปรับลูกเดียว
วันนี้ (5 เมษายน 2554) ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสุทธิชัย จันทร์อารักษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจโทชัชวาล สุขสมจิตร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกันแถลงข่าวความร่วมมือ จัดระเบียบร้านเหล้ารอบสถานศึกษา เพื่อควบคุมการดื่มให้เหมาะสมกับอายุ ป้องกันผลกระทบเยาวชน
ดร.พรรณสิริ กล่าวว่า จากผลการสำรวจล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อพ.ศ.2550 พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปซึ่งมี 51.2 ล้านคน ดื่มสุราถึง 14.9 ล้านคน หรือร้อยละ 29 เป็นชายมากกว่าหญิง 6 เท่า ที่น่าห่วงคือกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปีมีอัตราการดื่มสูงถึงร้อยละ 22 หรือประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ดื่มทั้งหมด เริ่มดื่มเมื่ออายุเฉลี่ยเพียง 17 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก เนื่องจากมีผลงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ยืนยันว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำลายพัฒนาการทางสมองของเด็กและเยาวชนอย่างชัดเจน ที่เอมริกามีผลการศึกษาผลสอบในเด็กอายุ 14-18 ปี พบว่าคะแนนของเด็กที่ดื่มจะน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้ดื่ม และที่สำคัญสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเกี่ยวกับความถูกผิดจะมีปัญหาไปด้วย และยังพบอีกว่าเด็กที่ดื่มเหล้าตั้งอายุ 15 ปี จะมีโอกาสโตเป็นคนติดเหล้าสูงกว่าปกติถึง 4 เท่าตัว จึงต้องเร่งแก้ไขป้องกันปัญหาเยาวชนดื่มเหล้า โดยต้องร่วมมือกันหลายๆฝ่าย
ทั้งนี้ผลสำรวจในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนร้านเหล้าใหม่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 59 โดยในรัศมี 500 เมตร รอบมหาวิทยาลัย มีร้านเหล้าเฉลี่ย 57 ร้าน และโรงเรียนประถม หรือมัธยมร้อยละ 73 มีร้านเหล้าอยู่ในรัศมี 100 เมตร นอกจากนี้ยังมีร้านขายเหล้าตั้งอยู่ในหรือบริเวณหอพักนักศึกษา ซึ่งแสดงถึงการขาดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ทำให้เยาวชนหาซื้อเหล้าได้ง่ายมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการขายเหล้ายังได้ออกสินค้าเหล้าใหม่ๆเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดดึงความสนใจ เช่น เหล้าปั่นที่มีสีสันสวยงาม ดูภายนอกเหมือนไอศกรีม น้ำหวานปั่น ส่งผลให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะผู้หญิง และเกิดปัญหาทางสังคม เช่น มีเพศสัมพันธ์ ตั้งครรภ์ ทำแท้ง เรียนไม่จบ ทะเลาะวิวาท เป็นต้น
ดังนั้นเพื่อเป็นการควบคุมและลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ลดปริมาณนักดื่มหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชน ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และตำรวจ จัดระเบียบร้านเหล้ารอบสถานศึกษา โดยใช้นโยบายร้านใหม่ไม่เพิ่ม ร้านเดิมทำตามกฎหมาย โดยให้เวลาผู้ประกอบการปรับปรุงเป็นเวลา 6 เดือน คือภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2554 หลังจากนั้นหากพบอีกจะจับปรับตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ. 2551 โดยไม่มีข้อละเว้นใดๆทั้งสิ้น
การกระทำผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังกล่าว ประกอบด้วย มาตรา 27(4) ( 5 ) ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ห้ามขาย เช่น หอพัก พื้นที่ติดกับสถานศึกษา ในสถานศึกษา วัด ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัน เวลา ที่กฎหมายห้ามขาย มาตรา 29(1)การขายเครื่องดื่มให้กับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี บริบูรณ์ การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ห้ามดื่ม เช่นในโรงเรียน และการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ปรับถึง 500,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับตามการกระทำผิด
สำหรับผลการควบคุมตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค ได้รายงานผลตั้งแต่มกราคม – พฤศจิกายน 2553 ได้ตรวจเตือน ตรวจสอบเรื่องร้องเรียน ทำหนังสือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ และกล่าวโทษดำเนินคดีผู้กระทำผิดรวม 3,080 เรื่อง อยู่ในกทม. 1,082 เรื่อง และภูมิภาค 1,998 เรื่อง โดยเปรียบเทียบปรับ 13 คดี เป็นเงิน 378,000 บาท มากที่สุดคือเรื่องการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 7 คดี จัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย 3 คดี ขายในหอพัก 2 คดี ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี 1 คดี และดื่มในสถานที่ราชการ 1 คดี
ด้านนายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่งดงามมากในการคุ้มครองลูกหลานเยาวชนที่อยู่ในวัยศึกษาเล่นเรียนว่า ไม่ควรไปข้องแวะกับร้านเหล้าและแหล่งอบายมุขต่าง ๆ แต่ควรใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ที่สนามกีฬามากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม มีเรื่องน่าเศร้า คือ สนามกีฬาของทางราชการบางที่ เช่นที่ อุทัยธานี เพชรบุรี ถูกรุกรานด้วยการจัดงานประจำปี ที่มีการตั้งลานเบียร์ภายในสนามกีฬา ทำให้เด็กและเยาวชนไม่สามารถเล่นกีฬาได้และถูกมอมเมาจากอบายมุข ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามาและจะไปตรวจจับกุมต่อไป
******************************** 5 เมษายน 2554