รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผลตรวจเลือดเกษตรกรโคราชมีความเสี่ยง ร้อยละ 33 เร่งตรวจสุขภาพเกษตรกรทั่วประเทศให้ครบภายใน 5 ปี พร้อมน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยใช้หลัก 3อ. 2ส. คือ อารมณ์ อาหาร ออกกำลังกาย งดดื่มสุรา และงดสูบบุหรี่  มาใช้ในการดูแลสุขภาพตามแนวทางสุขภาพดีบนวิถีไทย เพื่อสร้างเสริมสุขภาพประชาชน

          วันนี้ (7 เมษายน 2554) ที่โรงแรมเฮอร์มิเทจ รีสอร์ท จังหวัดนครราชสีมา ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์เสริมสร้างสุขภาพประชาชน ระหว่างองค์กร ภาคีภาครัฐและเอกชน จังหวัดนครราชสีมา และโครงการเกษตรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย สมุนไพรล้างพิษ กายจิตผ่องใส พร้อมทั้งเป็นสักขีพยานในการแลกเปลี่ยนความร่วมมือโครงการรณรงค์ฯ โดยมีตัวแทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ เกษตรอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนมูลนิธิ อาสาสมัครสาธารณสุข และเกษตรประจำหมู่บ้านกว่า 600 คนร่วมงาน จากนั้นเดินทางไปเยี่ยมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลด่านเกวียน อ.โชคชัย อ.หนองบุญมาก จ.นครราชสีมา
ดร.พรรณสิริกล่าวว่า เกษตรกรกลุ่มที่ใช้สารเคมีกำจัดแมลงมีความเสี่ยงที่จะพบความผิดปกติทางคลินิกหรือมีอาการพิษจากสารเคมีฯ และก่อให้เกิดโรคมะเร็งมากกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชนอกจากนี้ยังพบว่าเกษตรกรที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะมีอาการพิษทางระบบประสาทอื่นเช่น อาการอ่อนเพลีย ปวดหัว มึนงง เป็นต้น ทั้งนี้พิษจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีทั้งชนิดเฉียบพลัน เช่น ปวดศีรษะแน่นหน้าอกมองเห็นภาพลางเลือนอาเจียนปวดท้องและชนิดเรื้อรังโดยพิษสะสมในร่างกายแสดงอาการภายหลังที่อันตรายที่สุดคือ โรคมะเร็ง
ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดเป็นนโยบายที่จะให้การดูแลด้านสุขภาพแก่เกษตรกร และประชาชนทั่วไป ภายใต้โครงการเกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย สมุนไพรล้างพิษ กายจิตผ่องใส ตั้งเป้าตรวจสุขภาพทั้งทางกายและจิตให้กับเกษตรกรทั่วประเทศที่มีอยู่จำนวน 14.1 ล้านคนให้ครบภายใน 5 ปี โดยในปี 2554 มีเป้าหมายตรวจเกษตรกร 840,000คน รวมถึงให้คำแนะนำในการใช้สมุนไพรเพื่อลดและล้างพิษ จะนำสมุนไพรรางจืด ซึ่งเป็นสมุนไพรพื้นบ้านมาใช้ขับพิษออกในรูปของชาชงกิน 6 กรัม ก็จะขับสารพิษออกภายใน 7 วัน นอกจากนี้ ยังให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันพิษภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
จากผลการดำเนินงานเจาะเลือดเกษตรกรในปี 2553 ของจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 6,080 คน พบเกษตรกรมีผลเลือดที่ไม่ปลอดภัยและมีความเสี่ยงจำนวน 2,007 คนหรือร้อยละ 33 พบมากสุดที่ อ.ประทาย อ.โนนไทย อ.โนนสูง และจากรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้รับผลการตรวจวิเคราะห์การตกค้างของยาฆ่าแมลงในอาหารประเภทพืชผักผลไม้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ พริกสด คะน้า กวางตุ้ง ถั่วฝักยาว แตงกวา จำนวน 1,467 ตัวอย่าง ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 95 ไม่ได้มาตรฐานร้อยละ 5 เห็นได้ว่าปัญหาการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรในร่างกายของเกษตรกรยังเป็นปัญหาสำคัญ ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของเกษตรกรและส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคด้วย
***********************     7 เมษายน 2554
 


   
   


View 11    07/04/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ