วันนี้ (7 เมษายน 2554 ) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  พร้อมด้วยนายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล  รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข  นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และพลเอก นายแพทย์ชูศักดิ์ สุวรรณศิริกุล กรรมการเภสัชกรองค์กรร่วมทศวรรษโรคกระดูกและข้อ แถลงข่าว การเตรียมความพร้อมรับมืออุบัติเหตุสงกรานต์ 2554 สงกรานต์ปลอดเหล้า ปลอดภัย

นายจุรินทร์กล่าวว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตประมาณ 12,000 คน บาดเจ็บอีกกว่า 1 ล้านคน และผู้พิการอีกหลายหมื่นคน สาเหตุเกิดจากสภาพยานพาหนะ พื้นผิวการจราจร และที่สำคัญคือพฤติกรรมของผู้ขับขี่ มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับขี่  และขับรถเร็ว ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2553 ที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุจราจรเกิดจากเมาแล้วขับร้อยละ 40 ขับรถเร็วร้อยละ 20  พาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือรถจักรยานยนต์คิดเป็นร้อยละ 80 รองลงมาคือรถปิกอัพ นอกจากนั้นยังพบว่าเกิดจากการขับขี่ของเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ประมาณร้อยละ 30  อายุ 15-19 ปี ร้อยละ 17.7 รัฐบาลจึงได้กำหนดให้อุบัติเหตุทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานเข้าด้วยกัน โดยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ กำหนดให้ดำเนินงานเข้มข้นในช่วงวันที่ 11-17 เมษายน 2554 ตั้งเป้าหมายลดจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากปี 2553 ให้ได้ร้อยละ 5

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า  ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข  ปีนี้จะดำเนินการควบคู่กันทั้งมาตรการป้องกันและมาตรการรักษาพยาบาล  เพื่อมุ่งเน้นให้สงกรานต์ปีนี้เป็นสงกรานต์ปลอดเหล้า ปลอดภัย โดยมาตรการป้องกัน ประการแรกจะบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเคร่งครัด ทั้งเรื่องอายุ สถานที่ และเวลาห้ามขาย ประการที่ 2 ขอฝากเตือนผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะต่างๆต้องไม่ประมาทและคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ที่สำคัญคือ ต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาด ในปีที่ผ่านมาได้จับกุมผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับขี่ยานพาหนะ 9,952 ราย

สำหรับมาตรการด้านการรักษา ได้เตรียมความพร้อมการแพทย์ฉุกเฉินภายใต้สายด่วน 1669 ตั้งเป้าหมายทันที่ที่ได้รับแจ้งเหตุจะประสานหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินไปถึงจุดเกิดเหตุภายใน 10 นาทีให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของกรณีที่ได้รับแจ้ง โดยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และสั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับ ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน เตรียมพร้อมห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู ตึกผู้ป่วยใน ตลอด 24 ชั่วโมง 

ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2552 เปรียบเทียบกับปี 2553 พบว่า ยอดรวมอุบัติเหตุในปี 2553 ลดลง ผู้บาดเจ็บลดลงร้อยละ 12 จาก 4,332 รายเหลือ 3,802 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 3 โดยลดจาก 373 ราย เหลือ 361 ราย อุบัติเหตุร้อยละ 67.7 เกิดขึ้นบนถนนสายรอง เช่นถนนตามหมู่บ้าน ส่วนถนนทางหลวงแผ่นดินเกิดร้อยละ 32.9 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดในปี 2553 ได้แก่นครศรีธรรมราช 142 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุดคือนครราชสีมา 18 ราย ส่วนจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุดคือนครศรีธรรมราช 159 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเลย ได้แก่ ตราด พังงา แม่ฮ่องสอน ระนอง สมุทรสงคราม สุโขทัย และยะลา 

ด้านนายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล  รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการมาตรการด้านการป้องกันให้ดำเนินการให้สอดคล้องกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยจะมีการบูรณาการงานของทุกภาคส่วนภายในจังหวัด ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีการรายงานผลการปฏิบัติงาน และรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัย การตั้งจุดตรวจ/จุดบริการร่วม มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอสม. ร่วมเฝ้าระวังและให้บริการชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่จะขับขี่มอเตอร์ไซค์ในถนนสายรองซึ่งเป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุมากขึ้นนอกเหนือจากถนนสายหลัก และจะให้โรงพยาบาลที่เป็นเครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บ 33 แห่งทั่วประเทศ  รวบรวมข้อมูลเฝ้าระวังการบาดเจ็บช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อวิเคราะห์สาเหตุการบาดเจ็บต่อไป นอกจากนั้นให้สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคเขตเฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งเรื่องสถานที่ เวลา และอายุในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปีนี้กรมควบคุมโรคจะให้สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคเขต ทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ จัดทีมออกสุ่มสำรวจการขายสุราในสถานที่ เช่น ปั๊มน้ำมัน  สวนสาธารณะ และร้านค้าตามเส้นทางต่างๆ ในวันที่ 11 และ 13 เมษายน 2554 เพื่อตรวจสอบการจำหน่ายสุราในสถานที่และและเวลาห้ามขาย คือนอกเวลา 11.00 14.00 น..และ 17.00 24.00 น. จากการสำรวจในช่วงสงกรานต์  2553 พบว่ามีการขายสุราในสถานที่และเวลาที่ห้ามขายลดลงจากปี 2552 โดยการขายในสถานที่ห้ามขาย เฉพาะที่ปั๊มน้ำมันลดจากร้อยละ 15 ในปี 2552  เหลือร้อยละ 7 ในปี 2553 ส่วนการขายในเวลาห้ามขายลดจากร้อยละ 18 เหลือร้อยละ 8   

ทางด้านนายแพทย์ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือศูนย์นเรนทร จะเน้นหนักในการดูแลผู้ป่วยจากจุดเกิดเหตุมาโรงพยาบาล ขณะนี้มีบุคลากรกู้ชีพประมาณ 100,000 คน มีรถปฏิบัติการกู้ชีพกู้ภัยฉุกเฉินกว่า 10,000 คัน รวมทั้งได้ทำสัญญากับเรือกู้ชีพกู้ภัยอีกกว่า 1,000 ลำ และเฮลิคอปเตอร์พยาบาลอีก 100 กว่าลำ  พร้อมปฏิบัติการที่จุดเกิดเหตุ โดยรับแจ้งเหตุที่หมายเลข 1669  ฟรีตลอด 24 ชั่วโมงทั่วประเทศ และในปีนี้จะให้รถพยาบาลไปประจำจุดเสี่ยงของกรมทางหลวงที่มีทั้งหมด 100 กว่าจุดเพิ่มเติมด้วย 

ด้านนายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวถึงมาตรการควบคุมการดื่มของผู้โดยสารท้ายรถปิกอัพ ว่า ปัจจุบันนี้ มีเฉพาะการตรวจแอลกอฮอล์ในลมหายใจของผู้ขับขี่ ตามกฎหมายเดิมเท่านั้น  ส่วนของการห้ามดื่มท้ายรถกระบะ ขณะนี้กฎหมายลูกในการควบคุมยังไม่ออกมา มีเฉพาะมาตรการขอความร่วมมือเท่านั้น 

 ********************************  7 เมษายน 2554

 



   
   


View 11       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ