มอบอย.ออกประกาศควบคุมการจำหน่ายยาและจัดเก็บยาแก้หวัด 3 กลุ่ม ป้องกันการนำไปเป็นสารตั้งต้นยาเสพติด
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงอาการพญ.พิภัทรา สายโลหิต อายุ 28ปี ทีถูกหนุ่มคลั่งยาเสพติดจี้รถยนต์จับเป็นตัวประกันและถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัสเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลราชวิถีว่าได้รับรายงานเช้าวันนี้ (18 เมษายน 2554)อาการทั่วไปดีขึ้น ส่วนแขนข้างซ้ายที่บวมอยู่ก็จะมีการตรวจสอบการไหลเวียนของเลือดเพิ่มเติมในวันนี้ เพื่อหาสาเหตุของการบวม และในวันพรุ่งนี้ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงคาดว่าจะมีการผ่าตัดเอากระสุนปืนที่ฝังที่บริเวณหลังและแขน เพราะถ้าทิ้งไว้อาจจะมีปัญหาหรือเป็นอันตรายภายหลังได้
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ที่ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2553 มีผู้เข้าบำบัดเพิ่มขึ้นจากปี 2552 จำนวน 5,000คน ส่วนปี 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2553 ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีผู้เข้ารับการบำบัดเพิ่มขึ้น 3,000 คน และเมื่อแยกดูพื้นที่พบว่ากรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษามากที่สุด โดยมีจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดสูงกว่าพื้นที่อื่นๆร้อยละ 40 โดยผู้เสพยาบ้าเข้ารับการบำบัดมากที่สุดร้อยละ 85ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 15 เป็นเฮโรอีน กัญชา และสารระเหยอื่นๆ
ทั้งนี้ การที่มีผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดจำนวนมาก เนื่องจากขณะนี้มีระบบบังคับบำบัด หากผู้ติดยาเสพติดถูกจับกุมดำเนินคดี ตามนโยบายถือว่าผู้เสพยาเสพติดเป็นผู้ป่วย เพียงแต่จะต้องเข้ารับการบำบัดตามกฎหมายก่อน ดังนั้นจึงส่งผลให้มีผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา
ด้านนายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานด้านการบำบัดรักษา ผู้ติดยาเสพติดของโรงพยาบาลทุกสังกัด ในปี 2553 มีผู้เข้ารับการบำบัดจำนวน 161,108 คน เป็นระบบสมัครใจบำบัด 29,397 คน บังคับบำบัด 116,482 คน และต้องโทษ 15,229 ราย ส่วนปี 2554 ตั้งแต่ตุลาคม 2553-มีนาคม 2554 มีผู้เข้ารับการบำบัดจำนวน 91,866 คน สมัครใจบำบัด 15,876 คน บังคับบำบัด 69,800 คน ต้องโทษ 6,190 คน โดยกลุ่มอายุที่เข้ารับการบำบัดรักษามากที่สุด คือกลุ่มอายุ 18-24 ปี ร้อยละ 37 รองลงมา กลุ่มอายุ 25-29 ปี ร้อยละ 20 และกลุ่มอายุ 30-34 ปีร้อยละ 15ส่วนพื้นที่ที่มีผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดมากที่สุดคือภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 27 รองลงมา ภาคเหนือร้อยละ 13 กทม.ร้อยละ 11
ด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า กลุ่มยาแก้หวัดที่มีข้อมูลว่ามีบุคคลกว้านซื้อไปเป็นส่วนผสมของยาบ้า ขอเรียนว่ากลุ่มยาแก้หวัดเป็นยากลุ่มที่ทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ได้ควบคุมเรื่องของการจำหน่าย โดยเป็นกลุ่มยาสูโดเอฟีดรีน(Pseudo Ephedrine) ที่เป็นสูตรผสม 3 ตัว คือ สูโดเอฟีดรีน บวกคลอร์เฟนิรามีน(Chlorpheniramine) สูโดเอฟฟิดีน บวกบรอมเฟนิรามีน(Brompheniramine) สูโดเอฟฟิดีน บวกไตรโพรลิดีน(Tripolidine) ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ลดอาการคั่ง คัดจมูก ลดน้ำมูก ยาแก้แพ้ ทั้ง 3 ตัวนี้โดยที่ไม่รวมกลุ่มที่ผสมพาราเซตามอล เป็นกลุ่มที่ อย.ได้กำหนดในเรื่องของการที่ผู้ผลิตต้องจัดทำบัญชีจำหน่ายที่จำหน่ายให้กับร้านค้าต่างๆ รวมถึงร้านค้าก็จะอนุญาตจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป ครั้งละไม่เกิน 60 เม็ด
นายแพทย์พิพัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมาอาจจะมีบางร้านมีการลักรอบขายเป็นจำนวนมากให้กับผู้กว้านซื้อเพราะอาจจะได้ราคาดี อย.ไม่ได้นิ่งนอนใจโดยในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ทาง อย.ก็จะออกระเบียบในการควบคุมการจำหน่ายยาแก้หวัดทั้ง 3 ตัวข้างต้น โดยจะยังยึดถือระบบเดิม ในการอนุญาตให้จำหน่ายให้ประชาชนทั่วไป คือห้ามจำหน่ายเกิน 60 เม็ดต่อคนต่อครั้ง และสำหรับร้านยาที่จะสั่งซื้อไม่เกิน 5,000 เม็ดต่อร้านต่อเดือน จะไม่จำแนกว่าเป็นร้านยาที่ขายให้ใครอย่างไร ก็จะช่วยป้องกันการกว้านซื้อยาตัวนี้และนำไปขายต่อให้กับผู้กว้านซื้อ ร้านยาใดที่ อย.ตรวจสอบพบว่ามีการสั่งซื้อเกินกำหนด หรือมีการขายให้กับผู้กว้านซื้อเราจะมีการเพิกถอนใบอนุญาต หรือพักใบอนุญาตจำหน่ายยา ส่วนผู้ที่ผลิตยากลุ่มนี้ถ้าขายเกิน อย.ก็จะปรับโควต้าการสั่งซื้อ สูโดเอฟีดรีน เพราะขณะนี้การสั่งซื้อต้องสั่งซื้อผ่าน อย.เท่านั้น ส่วนผู้ที่นำเข้าจากต่างประเทศก็จะถูกพักใบอนุญาตการนำเข้า ซึ่งจะเป็นมาตรการป้องกันทางหนึ่งที่จะมีผู้นำยาไปใช้ในทางไม่ชอบ
**********************************************18 เมษายน 2554