กระทรวงสาธารณสุขระดมทุนจากภาคเอกชน 20 ล้านบาท ร่วมก่อสร้างโรงพยาบาลวัดจันทร์ เป็นโรงพยาบาลจิตอาสาแห่งแรกของประเทศ และคลังสมุนไพรเมืองเหนือ กระจายบริการให้ชาวไทยภูเขาใน 3 ตำบลทุรกันดาร ฐานะยากจนมากของอ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ได้เข้าถึงบริการภายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2550 นี้
วันนี้ ( 5 มีนาคม 2550 ) หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ผู้อำนวยการโครงการหลวง นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานมูลนิธิดร.เทียมโชควัฒนา บริษัทสหพัฒนพิบูลจำกัด ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างโรงพยาบาลวัดจันทร์ ขนาด 10 เตียง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่โครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ จำนวน 60 ไร่ ที่ตำบลบ้านจันทร์ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2550 ซึ่งจะเอื้อให้ประชาชนกว่า 1 หมื่นคน จำนวน 21 หมู่บ้าน ในต.วัดจันทร์ ต.แจ่มหลวง และต.แม่แดด ของอำเภอแม่แจ่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง มูเซอ และม้ง ฐานะยากจนมาก ได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ภูเขาสูง ทุรกันดาร การเดินทางลำบาก อยู่ห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ 125 กิโลเมตร ห่างจากโรงพยาบาลแม่แจ่ม 98 กิโลเมตร ต้องใช้เวลาเดินทางกว่า 5 ชั่วโมง
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีแนวคิดให้โรงพยาบาลวัดจันทร์นี้ เป็นโรงพยาบาลจิตอาสาแห่งแรกของประเทศ ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและประชาชน โดยมูลนิธิเทียมโชคพัฒนา สนับสนุนงบก่อสร้าง 15 ล้านบาท สมทบกับเงินงบประมาณภาครัฐ 20 ล้านบาท โดยโรงพยาบาลแห่งนี้มีความพิเศษหลายอย่าง แม้ตั้งในพื้นที่เนินเขาลาดชันมาก แต่จะให้คงความเป็นธรรมชาติร่มรื่น ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ป่วยได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ หายป่วยเร็วขึ้น
ในการก่อสร้าง ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่สร้างอาคารบริการ 40 ไร่ และอีก20 ไร่ จะใช้ในการส่งเสริมอาชีพให้ประชาชนมีรายได้ เนื่องจากมีฐานะยากจนมาก จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของโรงพยาบาลโดยเฉพาะการขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียน ดังนั้นเพื่อให้โรงพยาบาลอยู่รอด จึงวางโครงการเสริมรายได้ของโรงพยาบาลและประชาชน 2 โครงการได้แก่ โครงการคลังสมุนไพร รวบรวมสมุนไพรทั่วภาคเหนือ ให้เป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้า และนำผลผลิตมาใช้ในกิจกรรมการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนล้านนา และแพทย์ทางเลือก ให้ชาวบ้านปลูก และนำสมุนไพรมาขายให้โครงการ ซึ่งสวนสมุนไพรนี้จะเป็นแนวป้องกันการบุกรุกทำลายป่าด้วย และ 2. โครงการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก จะเปิดบริการการแพทย์ทางเลือกเช่น ฝังเข็ม การล้างพิษ นวดอบสมุนไพร นวดแผนโบราณ จัดทำที่พักฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ และผู้เจ็บป่วยโรคเรื้อรังคล้ายลองสเตย์ นำรายได้เข้าโรงพยาบาล เนื่องจากพื้นที่นี้ มีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเข้าไปเที่ยวปีละ3,000 คน
ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ขอบริจาคเครื่องมือแพทย์ คุรุภัณฑ์ทางการแพทย์จากมูลนิธิท้าวมหาพรหม จำนวน 10รายการ วงเงิน 5 ล้านบาทเศษ เพื่อให้บริการครบถ้วนสมบูรณ์แบบที่สุด อาทิเครื่องเอ็กซเรย์ เครื่องทำฟัน เครื่องตรวจและติดตามคลื่นหัวใจ เตียงผ่าตัด โคมไฟผ่าตัด เครื่องตรวจเลือด ซึ่งล้วนจำเป็นต่อการบริการตรวจรักษาพยาบาลด้วย
มีนาคม1/2 ************************ 5 มีนาคม 2550
View 9
05/03/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ