กระทรวงสาธารณสุข ทุ่มงบกว่า 11 ล้านบาท ควบคุมปัญหาขาดสารไอโอดีนในปี 2554 โดยเร่งพัฒนาผู้ผลิตเกลือบริโภค น้ำปลา น้ำเกลือปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยสลายโปรตีนถั่วเหลืองขนาดเล็กและขนาดกลางทั่วประเทศ ให้ได้มาตรฐานตามกฎหมาย และเฝ้าระวังคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่เสริมไอโอดีน นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบายและแนวทางในการป้องกันควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนอย่างยั่งยืน เนื่องจากการขาดสารไอโอดีนมีความสัมพันธ์กับระดับไอคิวของคนไทย โดยได้กำหนดมาตรการทางกฎหมาย ปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุข 4 ฉบับ บังคับให้เติมสารไอโอดีนในเกลือบริโภค น้ำปลา น้ำเกลือปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง เช่น ซอสปรุงรส เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2553 เป็นต้นมานั้น นายแพทย์สุพรรณ กล่าวว่า ในการควบคุมมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ 4 กลุ่มดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับสารไอโอดีนครบถ้วน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอของบประมาณจากคณะรัฐมนตรี ดำเนินการ 3 ปีระหว่างพ.ศ. 2554-2556 วงเงิน 64 ล้านบาทเศษ และได้รับการอนุมัติในปี 2554 วงเงิน 11 ล้านกว่าบาท โดยใช้ดำเนินการใน 2 เรื่อง ได้แก่ การตรวจเฝ้าระวังคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เสริมไอโอดีน เป็นเงิน 8 ล้านกว่าบาท ซึ่งในปีนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะเก็บตัวอย่างเกลือบริโภค 4,000 ตัวอย่าง เก็บน้ำปลา น้ำเกลือปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนจากถั่วเหลืองอีก 2,000 ตัวอย่าง ส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากพบว่าเกลือบริโภคที่จำหน่ายไม่เติมไอโอดีน จะเข้าข่ายอาหารปลอมหรือเรียกว่าเกลือปลอม มีโทษจำคุก 6 เดือน – 10 ปี ปรับ 5,000 – 100,000 บาท นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อว่า สำหรับงบส่วนที่ 2 วงเงิน 2 ล้านกว่าบาท จะใช้พัฒนาผู้ประกอบการผลิตขนาดเล็กและขนาดกลาง เพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์ 4 ประเภท ได้ตามมาตรฐานทั้งประเทศ กล่าวคือ เกลือบริโภคที่จำหน่ายในประเทศ ต้องมีปริมาณไอโอดีนไม่น้อยกว่า 30 มิลลิกรัม ต่อเกลือบริโภค 1 กิโลกรัม ส่วนน้ำปลา น้ำเกลือปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนจากถั่วเหลือง กำหนดให้มีปริมาณไอโอดีนไม่น้อยกว่า 2 - 3 มิลลิกรัมต่อลิตร และต้องแสดงฉลากระบุว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้เสริมไอโอดีนด้วย ทั้งนี้ปัจจุบันระดับไอคิวโดยเฉลี่ยของเด็กไทยอยู่ที่ 91 จุด ต่ำกว่ามาตรฐานสากลที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 90-110 จุด ส่วนหญิงตั้งครรภ์พบการขาดสารไอโอดีนร้อยละ 60 ซึ่งจะมีผลร้ายแรงต่อทารกตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึงอายุ 3 ปี หญิงตั้งครรภ์ที่ขาดสารไอโอดีน จะทำให้ทารกมีพัฒนาการทางสมองไม่เต็มที่ นอกจากนี้การเข้าถึงเกลือเสริมไอโอดีนคุณภาพของครัวเรือนไทย ยังต่ำกว่าเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกเช่นกัน ********************* 24 เมษายน 2554


   
   


View 11    24/04/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ