และประชาชนไม่มีความรู้ รวมพลังภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องหาร่วมแก้ปัญหา เนื่องในวันอนามัยโลก ปี 54

วันนี้ (25 เมษายน 2554) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย  ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ ดร.มัวรีน เบอร์มิงแฮม ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ร่วมกันเปิดงานวันอนามัยโลกซึ่งตรงกับวันที่ 7 เมษายนของทุกปี โดยในปีนี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ เพื่อให้ประเทศสมาชิกใช้เป็นแนวทางรณรงค์ให้ความรู้แก่กลุ่มผู้ให้บริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนรวมทั้งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและจำหน่ายยา และประชาชนทั่วไปในเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยกำหนดคำขวัญว่า “ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง ป้องกันเชื้อดื้อยา เพื่อการรักษาที่ได้ผล”  (Combat drug resistance - No action today, no cure tomorrow)

งานรณรงค์วันอนามัยโลกครั้งนี้ จัดโดยองค์การอนามัยโลก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมประชาสัมพันธ์ แพทยสภา สถาเภสัชกรรม และสมาคมเภสัชกรรมชุมชน ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กิจกรรมประกอบด้วย การมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดเรียงความตามคำขวัญวันอนามัยโลก นิทรรศการเผยแพร่ความรู้และสร้างความตระหนักในการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องเหมาะสมและการประชุมเสวนาภาคีเครือข่าย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง       

นายจุรินทร์กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายมุ่งเน้นการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ การควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น การเลือกใช้ยาที่ไม่เหมาะสมกับเชื้อแบคทีเรียการควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลไม่ดีพอ และการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งการที่ประชาชนไม่มีความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะที่ถูกต้อง ทำให้รับประทานยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น เปลี่ยนยาบ่อยหรือกินไม่ครบขนาดตามที่แพทย์สั่ง ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้แล้ว ยังทำให้สังคมรอบข้างเสี่ยงต่อการติดเชื้อดื้อยา

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาที่ดีที่สุดก็คือ การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล ดังนั้นประชาชนหรือผู้ที่ได้รับยาจะต้องได้รับความรู้ในเรื่องการใช้ยา และกินยาให้ครบตามคำสั่งของแพทย์ ผู้จ่ายยาต้องจ่ายยาที่ถูกต้องมีความเหมาะสม ขณะเดียวกันปศุสัตว์ต้องให้ความรู้ในการใช้ยาที่ถูกต้องในสัตว์ รวมทั้งโรงพยาบาลต้องมีการควบคุมโรคให้เป็นไปตามมาตรฐานการติดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการประสานงานจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กับการรักษา การควบคุมและการจำหน่ายยา ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่นแพทย์ผู้รักษาและสั่งยา เภสัชกร ร้านขายยา ผู้ผลิตและนำเข้ายา และประชาชน โดยเริ่มตั้งแต่สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนแพทย์และเภสัช ให้ผลิตบุคลากรที่มีแนวคิดการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และเน้นย้ำเรื่องการไม่ใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น รวมถึงการเพิ่มเนื้อหาวิชาการให้นักเรียนและประชาชนให้มีความรู้ในเรื่องดังกล่าวอย่างถูกต้อง   

ด้าน นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่า ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ไทยมีการผลิตและนำเข้ากลุ่มยาฆ่าเชื้อ ได้แก่ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านแบคทีเรีย ยาต้านไวรัส ยาต้านเชื้อราและยาฆ่าเชื้ออื่น ๆ สูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ในปี 2550 มีมูลค่ารวมประมาณ 2 หมื่นล้านบาท หรือเกือบร้อยละ 20 ของมูลค่ายาทั้งหมด และจากการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์การดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียมานานกว่า 10ปีของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าเชื้อแบคทีเรียที่มีการดื้อยาสูงขึ้น ได้แก่

1.เชื้อสเตรปโตค็อกคัสนิวโมเนียอี(Streptococcus pneumoniae) ที่ทำให้เกิดโรคปอดบวมและเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1ในเด็กอายุต่ำกว่า 5ปีดื้อยาเพนนิซิลินเพิ่มจากร้อยละ 47 ในปี 2541 เป็นร้อยละ 64 ในปี 2553 และดื้อยาอิริโธมัยซินจากร้อยละ 27 เป็นร้อยละ 54 และขณะนี้เริ่มพบการดื้อยาตัวใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาทดแทนแล้ว 2. เชื้ออีโคไล (Escherichia coli  ) ที่ทำให้เกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบและการติดเชื้อในช่องท้อง ดื้อยาปฏิชีวนะกลุ่มที่ออกฤทธิ์กว้างคือสามารถฆ่าเชื้อได้หลายชนิด เพิ่มจากร้อยละ 19 ในปี 2542 เป็นร้อยละ 52 ในปี 2548 และดื้อต่อยาในกลุ่มฟลูโอโรควิโนโลน (fluoroquinolone)ถึงร้อยละ60 ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่หาซื้อได้ง่าย มีผลข้างเคียงไม่มากจึงทำให้มีการใช้เกินความจำเป็นอย่างมาก ทั้งในคนและในสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม

3.เชื้ออะซีนีโตแบคเตอร์ บอแมนนิอาย (Acinetobacter baumannii) เป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคในโรงพยาบาลพบมีการระบาดของเชื้อชนิดนี้ดื้อยากลุ่มคาบาพีเนมซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อได้มากชนิดที่สุดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.1ในปี 2543 เป็นร้อยละ 63  ในปี 2553 และดื้อยาเซฟโฟเพอราโซน/ซาลแบคแทมซึ่งเป็นยาด่านสุดท้ายที่ใช้ในการรักษาเชื้อนี้จากร้อยละ 3 เพิ่มเป็นร้อยละ 44 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  และ 4. เชื้อสูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) ซึ่งเป็นเชื้อฉวยโอกาสทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะและระบบไหลเวียนโลหิต พบการดื้อยาร้อยละ 20-40

************************** 25 เมษายน 2554
                                                                                                                                      


   
   


View 13    25/04/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ