วันนี้(26 เมษายน 2554) ที่รัฐสภา กทม. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้นายเซอิจิ โคจิมะ(H.E.Mr.Seiji Kojima)เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ขอเข้าพบเพื่อเยี่ยมคารวะและชี้แจงสถานการณ์เกี่ยวกับภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวและสินามิ ซึ่งนำไปสู่วิกฤตการณ์เตาปฏิกรณ์ปรมาณูและผลกระทบต่อความปลอดภัยด้านอาหารในประเทศญี่ปุ่น

นายจุรินทร์ กล่าวว่า เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ให้ข้อมูลสถานการณ์ โดยเฉพาะรังสีปนเปื้อนในอาหาร และด้านอื่นๆในประเทศญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขของไทย โดยญี่ปุ่นได้ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงมีพระกรุณาธิคุณส่งกำลังใจและส่งความช่วยเหลือไปให้ญี่ปุ่น รวมทั้งคนไทยทุกคนด้วย และได้แจ้งให้ทราบว่าญี่ปุ่นจะเร่งฟื้นฟูให้เร็วที่สุด  โดยญี่ปุ่นมีมาตรการด้านความปลอดภัยอาหาร หากพบอะไรที่เกินมาตรฐานรังสีปนเปื้อน ก็จะห้ามจำหน่ายในประเทศและห้ามส่งออก โดยขอให้ประเทศไทยเมื่อรับทราบข้อมูลแล้ว ก็ขอให้การกำหนดมาตรการต่างๆ เป็นไปด้วยความเหมาะสม
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ได้แจ้งให้ญี่ปุ่นทราบว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2554 กำหนดมาตรฐานอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น โดยกำหนดมาตรฐานไว้ว่าไอโดดีน 131 ต้องไม่เกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม ซีเซียม 134 กับ 137 รวมกันไม่เกิน 500 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม และการนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นจากพื้นที่เสี่ยง ต้องมีใบรับรองการตรวจการปนเปื้อนรังสีในพื้นที่กำหนด หรือถ้านอกพื้นที่กำหนดต้องมีใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า ขณะเดียวกันจะสุ่มตรวจควบคุมกันไป ซึ่งเป็นมาตรการที่จำเป็นเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคคนไทย ชาวต่างชาติ ชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ที่ไทย มั่นใจว่าผัก ผลไม้ อาหารทะเลที่มาจากญี่ปุ่นปลอดภัยรับประทานได้ และในอนาคตถ้าสถานการณ์เปลี่ยนไปก็จะได้มีการปรับปรุงประกาศฯได้ตามความเหมาะสม  ส่วนในรายละเอียดที่หารือต่อไปจะเป็นการพูดคุยในระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ที่จะปรับปรุงหรือติดตามสถานการณ์ ปรับปรุงประกาศ แต่ขณะนี้ยืนยันว่าประกาศฯ ฉบับนี้ยังมีความจำเป็น ซึ่งญี่ปุ่นรับทราบและเข้าใจ
นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นฯ ได้มอบหนังสือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรป่าไม้และประมงญี่ปุ่น เนื้อหาเป็นข้อมูลที่แจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขรับทราบว่าสถานการณ์ข้อเท็จจริงในประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างไร หากมีการกำหนดมาตรการอะไรข้อให้กำหนดบนพื้นฐานของข้อมูล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไทยได้ติดตามข้อมูล และปฏิบัติตามอยู่แล้ว
ด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่ามาตรการในการควบคุมเฝ้าระวังอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่น ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยจะให้ข้อมูลออกมาเป็นระยะ ข้อมูลประจำวันจะปรากฏในเว็ปไซค์ของ อย. www.fda.go.th  โดยมาตรการที่กำหนดในการควบคุมดูจากสถานการณ์รอบด้านทั่วโลก และญี่ปุ่นว่าผ่อนคลายหรืออันตรายมากน้อยเพียงใด เพื่อปรับมาตรการให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นให้เหมาะสม     
*******************************    26 เมษายน 2554


   
   


View 7       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ