วันนี้ (19พฤษภาคม 2554) ที่ จ.นครนายก นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุม“พัฒนาศักยภาพเครือข่ายผู้บริหารสุขภาพระดับอำเภอ” ชี้แจงการดำเนินงานโครงการสนองน้ำพระราชหฤทัยในหลวงทรงห่วงใยสุขภาพประชาชนเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษาในวันที่ 5ธันวาคม 2554 ให้เป็นแนวทางปฏิบัติเดียวกันทั่วประเทศโดยมีสาธารณสุขอำเภอทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 800 คน ซึ่งสาธารณสุขอำเภอเป็นบุคลากรที่สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข นำไปสู่การปฏิบัติที่บูรณาการและเป็นรูปธรรมในระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน/ชุมชน

          นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการสนองน้ำพระราชหฤทัยในหลวงฯ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเป็นโครงการต่อเนื่อง 3ปี ระหว่าง พ.ศ.2552-2554 โดยหยิบยกโรคที่เป็นปัญหาสำคัญ ได้แก่ โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคสำคัญที่คนไทย เสี่ยงป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและเป็นสาเหตุเกิดโรคอื่นตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวาย และตาบอดเป็นต้น จึงมีมาตรการดูแลกลุ่มประชาชนที่อายุ 35 ปีขึ้นไปทุกคน ให้ได้รับการตรวจสุขภาพและคัดกรองโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง โดยจัดรถตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ออกให้บริการ รวมทั้งยกระดับการบริการให้มีคุณภาพมาตรฐาน ด้วยวิธีที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย

          นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ สามารถคัดกรองโรคเบาหวานได้  20,985,133 คน พบผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ร้อยละ15 หรือ 3.1 ล้านคน โดยแยกเป็นกลุ่มเสี่ยงป่วย 1,710,521 คนเป็นเบาหวานรายใหม่ 353,189 คน และรายเก่า 1,070,737 คนในจำนวนนี้มีโรคแทรกซ้อน ร้อยละ 10 มากที่สุดคือตาต้อกระจก รองลงมาคือแผลที่เท้าและไตวาย ส่วนโรคความดันโลหิตสูง คัดกรอง 21,168,414 คน ตรวจพบผู้มีความดันโลหิตสูงกว่าปกติร้อยละ 22 หรือ 4.5 ล้านคน โดยแยกเป็นกลุ่มเสี่ยงป่วย 2,405,741 คน ผู้ป่วยรายใหม่ 651,867  คนและรายเก่า 1,509,551 คน ในจำนวนนี้มีโรคแทรกซ้อน ร้อยละ 6 อันดับ 1คือโรคหัวใจรองลงมาคือเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตกและไตวายนอกจากนี้ยังพบผู้ที่ป่วยทั้งโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง  635,850คน มีภาวะแทรกซ้อนร้อยละ 10  

โดยกระทรวงสาธารณสุข จะมีมาตรการดูแลประชาชนที่คัดกรองและขึ้นทะเบียนแล้วดังนี้ 1.กลุ่มปกติ จะรณรงค์ส่งเสริมพฤติกรรม 3 อ. 2 ส. คือ ออกกำลังกาย อาหาร อารมณ์ การไม่ดื่มสุรา และสูบบุหรี่  2.กลุ่มเสี่ยงป่วยได้รับการดูแล 2ลักษณะคือรายบุคคล จะให้คำปรึกษาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ส่วนกลุ่มบุคคล จะทำให้เกิดองค์กรชุมชนไร้พุง โดยใช้เครื่องมือแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ 3.กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน จะได้รับการดูแลปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ และการให้บริการรักษาพยาบาลเป็นอย่างดีจากโรงพยาบาลใกล้บ้าน และค้นหาโรคแทรกซ้อนส่วนกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนจะได้การดูแลจากโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวในตอนท้าย

****************************************** 19 พฤษภาคม 2554



   
   


View 11       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ