ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งสำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคไข้กาฬหลังแอ่น หากพบผู้ป่วยให้รายงาน 24ชั่วโมงและควบคุมโรคในพื้นที่ทันที ในรอบ 3 เดือนปีนี้พบผู้ป่วย 9  ราย ไม่มีเสียชีวิต อาการแสดงที่สำคัญของโรคคือมีไข้สูงปวดหัวรุนแรง อาเจียน คอแข็ง อาจมีผื่นแดง จ้ำเลือดขึ้นตามผิวหนัง ต้องรีบพบแพทย์ทันที  

วันนี้ (20 พฤษภาคม 2554)  นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคไข้กาฬหลังแอ่นประปรายตลอดปีและมีการระบาดในบางพื้นที่เป็นครั้งคราว โรคดังกล่าวพบได้ทั่วโลกเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่าไนซิเรีย เมนิงไจติดิส (Neisseria meningitidis) ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังอักเสบมักพบผู้ป่วยในกลุ่มอายุต่ำกว่า 15ปี ประมาณ ร้อยละ 25 - 40

นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่ออีกว่าจากการเฝ้าระวังโรคตั้งแต่ 1มกราคม - 30มีนาคม 2554 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคไข้กาฬหลังแอ่น 9ราย จาก 7จังหวัดได้แก่ ชลบุรี 3ราย กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี  ภูเก็ต มหาสารคาม เชียงรายและเพชรบูรณ์จังหวัดละ 1 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต  ในขณะที่ตลอดปี 2553พบผู้ป่วย 26ราย ใน 16จังหวัด เสียชีวิต 5รายได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องหากมีผู้ป่วยให้รายงานโรค 24ชั่วโมงและทำการควบคุมโรคในพื้นที่ทันที

เชื้อไข้กาฬหลังแอ่นมีทั้งหมด 13สายพันธุ์ ได้แก่ เอ,บี,ซี,ดี,อี 29,เอช,ไอ,เค,แอล,ดับเบิลยู 135,เอ็กซ์,วาย,และแซด (A,B,C,D,E29,H,I,K,L,W135,X,Y และ Z) เชื้อสามารถแพร่ติดต่อกันได้โดยตรงทางน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยหลังติดเชื้อประมาณ 3-4วันจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน คอแข็งอาจมีผื่นแดง จ้ำเลือดขึ้นตามผิวหนังร่วมด้วย และอาจเกิดภาวะช็อก ผู้ป่วยจะมีผื่นเลือดออกตามผิวหนัง ในรายที่รุนแรงจะมีเลือดออกในลำไส้และต่อมหมวกไต

อย่างไรก็ดีโรคนี้มียารักษาได้ แต่ต้องไปพบแพทย์โดยเร็วโดยผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยในบ้านเดียวกัน และผู้ที่สัมผัสสารคัดหลั่งต้องได้รับยาปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อติดต่อกัน 2วัน ถ้าไม่มีการระบาดหรือพบผู้ป่วยเพียงประปราย ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนและวัคซีนที่ฉีดนั้นต้องตรงกับชนิดของเชื้อที่ระบาดจึงจะได้ผล โดยจะพิจารณาฉีดในภาวะที่มีการระบาดจากสายพันธุ์ที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนคือ เอ,ซี,วายและดับเบิลยู 135รวมทั้งผู้ที่จะเดินทางไปประเทศที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นเช่นประเทศในทวีปแอฟริกาหรือประเทศในตะวันออกกลาง เป็นต้น

ส่วนกรณีนางสาวสโรชา เนียมบุญนำ หรือน้องกาว นักศึกษาชั้นปีที่ 4คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เสียชีวิตที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และมีการสันนิษฐานว่าอาการคล้ายโรคไข้กาฬหลังแอ่นนั้น ขณะนี้สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุขของไทย กำลังติดต่อกับสหรัฐอเมริกาว่าเกิดจากเชื้ออะไรและจากสาเหตุอะไร

............................................................. 20 พฤษภาคม 2554



   
   


View 14    20/05/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ