วันนี้ (31 พฤษภาคม 2554) เวลา 15.00 น. พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จ ณ ไลฟ์สไตล์ ฮอลล์ ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอนกทม. ทรงตัดแถบแพรเปิดงาน วันงดสูบบุหรี่โลกประจำปี 2554”โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เฝ้ารับเสด็จ

นายจุรินทร์ ได้กราบทูลรายงานว่าสืบเนื่องจากองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคม ทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลกและขอความร่วมมือไปยังนานาประเทศในการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงพิษภัยบุหรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ที่สามารถป้องกันได้    ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยว ข้องกับการสูบบุหรี่ปีละประมาณ 5 ล้านคน โดยหากการควบคุมการบริโภคยาสูบไม่เข้มแข็งเพียงพอ ในอีก 20 ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่เพิ่มเป็นปีละประมาณ 8 ล้านคน  
     
ในการจัดงานรณรงค์วันงดสูบบุหรี่ ประจำปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน กำหนดคำขวัญรณรงค์ว่า พิทักษ์สิทธิตามกฎหมาย มุ่งสู่สังคมไทยปลอดบุหรี่(The WHO Framework Convention on Tobacco Control : WHO FCTC)  เพื่อรณรงค์เผยแพร่ความรู้ พร้อมเตือนภัยเกี่ยวกับพิษภัยและผลกระทบจากการสูบบุหรี่  สร้างค่านิยมใหม่ที่ไม่สูบบุหรี่แก่เด็กและเยาวชน ประการสำคัญเป็นการกระตุ้นเตือนพิทักษ์สิทธิ์ให้ประชาชนที่ไม่สูบบุหรี่ให้ได้รับอากาศบริสุทธิ์ไม่ปนเปื้อนมลพิษจากควันบุหรี่ ที่มีสารพิษที่อันตรายต่อสุขภาพกว่า 4,000 ชนิด และมีสารพิษที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งกว่า 40 ชนิด โดยเฉพาะในสถานที่สาธารณะ รวมทั้งให้ผู้ประกอบการปฎิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง 
     
อนึ่ง ในวันนี้พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ได้ประทานรางวัลขององค์การอนามัยโลกหรือเวิร์ล โน โทแบคโค เดย์ อวอร์ด (World No Tobacco Day Awards ) ประจำปี 2554 ซึ่งเป็นรางวัลที่รับรองความสำเร็จในระดับนานาชาติในการต่อสู้กับอันตรายของการสูบบุหรี่ต่อสุขภาพ โดยจะมอบให้ผู้ที่อุทิศตนดำเนินกิจกรรมส่งเสริม สนับสนุนการควบคุมการบริโภคยาสูบอย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพทุกปี ปีละไม่เกิน 6 ราย โดยในส่วนของประเทศไทย ผู้ที่ได้รับรางวัลดังกล่าวในปีนี้คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จากการผลักดันเชิงนโยบาย ในการดำเนินการควบคุมยาสูบของประเทศ โดยมุ่งเน้นให้ดำเนินการ ตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ และตามอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ขององค์การอนามัยโลก ได้ผลักดันให้มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 19 พ.ศ. 2553  ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 ผลักดันให้มี การพัฒนา แก้ไข และออกกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 หลายฉบับ นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนให้มีคลินิกเลิกบุหรี่ในสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับ โดยเฉพาะสถานบริการสาธารณสุขในระดับตำบล และเป็นผู้นำในการสร้างกระแสรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเกิดการปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมยาสูบในวงกว้าง           
 
และ ประทานรางวัลฮู เวิร์ล โน โทแบคโคเดย์ รีคอกนิชั่น อวอร์ด (WHO World No TobaccoDay Recognition Award) แก่รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวรรณ วิจิตรวาทการ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์กรองจิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษาวิชาการด้านส่งเสริมการเลิกสูบบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ซึ่งเป็นรางวัลพิเศษจากผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มอบให้ผู้มีผลงานเด่นในการสนับสนุนการควบคุมยาสูบในระดับภูมิภาค  และได้ประทานโล่ประกาศเกียรติคุณแก่หน่วยงานและบุคคล ผู้กระทำคุณประโยชน์ผู้ให้การสนับสนุน และผู้มีผลงานดีเด่นด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบ จำนวน 32  คนด้วย
ประเทศไทยมีคนไทยเสียชีวิตจากบุหรี่ปีละกว่า 42,000 รายและต้องเข้ารับการรักษาโดยเฉพาะโรคมะเร็งไม่ต่ำกว่าปีละ 100,000 คน บุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงการเสียชีวิตของคนไทยอันดับ 2 รองจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย  สถานการณ์การบริโภคยาสูบของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปล่าสุดในปี 2552  สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจพบคนไทยสูบบุหรี่ 10.9 ล้านคน เป็นชาย 10.3 ล้านคน หญิง 5.4 แสนคน โดยในกลุ่มอายุ 15-18 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.25 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 7.62 ในปี 2552 และในกลุ่มอายุ 19-24 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่ดังกล่าวเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวเช่นกันจากร้อยละ 21.27 เป็นร้อยละ 22.19
ในปี 2552 เยาวชนชายและหญิงอายุ 13-15 ปี ร้อยละ 19 เคยสูบบุหรี่ครั้งแรกเมื่ออายุต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ที่มีสูบร้อยละ 17   สาเหตุที่เยาวชนเริ่มสูบบุหรี่เพราะอยากทดลองสูบร้อยละ 56 ส่วนใหญ่ซื้อมาสูบเองแบบเป็นมวน/แบ่งมวนขายร้อยละ 68   โดยส่วนใหญ่ซื้อจากร้ายขายของชำร้อยละ 91    ทั้งนี้ มีการขายบุหรี่ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ผู้ขายไม่เคยขอบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อตรวจสอบก่อนขาย     ร้อยละ 94  และประชาชนร้อยละ 39 คนสัมผัสควันบุหรี่ในตัวบ้าน
     ********************************* 31 พฤษภาคม 2554
 
 
 
 
 
 
 
 


   
   


View 2       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ