โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยในปี 2554 นี้ เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 ยังเป็นสาเหตุหลักของโรคไข้หวัดใหญ่ ย้ำเตือนประชาชนที่ป่วยเป็นไข้หวัด หากอาการไข้ไม่ลงภายใน 2 วัน ขอให้คิดถึงว่าอาจเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ควรรีบพบแพทย์ตรวจรักษา โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ และ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ต้องรีบพบแพทย์ทันที  

          วันนี้(7 มิถุนายน 2554)นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สภาพอากาศของประเทศ มีความชื้นสูง เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยง่าย โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ ที่พบได้บ่อยได้แก่ ไข้หวัดทั่วไป ไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม รวมทั้งไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งยังคงพบเชื้อนี้อยู่ จากการเฝ้าระวังสถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ทุกชนิดในภาพรวม ในปี 2554 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรครายงานมีผู้ป่วยสะสมทั่วประเทศ 10,664 ราย ผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ พบว่า เกิดจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่2009มากที่สุด และมีผู้เสียชีวิต 5 ราย ทั้งหมดเกิดจากไข้หวัดใหญ่ 2009
          นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อว่า ประชาชนที่มีอาการไข้หวัด คือ เป็นไข้ ไอ มีเสมหะ ขอให้หยุดพักผ่อนอยู่บ้าน อาการจะค่อยๆดีขึ้น แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ไข้ยังไม่ลดภายใน 2 วัน ขอให้คิดถึงว่าอาจป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 ไว้ด้วย และควรไปพบแพทย์เพื่อการดูแลรักษาที่ถูกวิธี รวมทั้งเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน ที่อันตรายที่สุดคือโรคปอดบวม ทำให้เสียชีวิตได้
          กลุ่มที่มีความเสี่ยงป่วยจากโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 และมีอาการรุนแรงกว่าประชาชนทั่วไป ได้แก่ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคตับ โรคไต โรคโลหิตจาง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำอยู่แล้ว ดังนั้นหากมีอาการป่วยเป็นไข้หวัด เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูกไหล ขอให้ไปพบแพทย์ทันที 
                นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ขอให้ประชาชนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 30 นาที รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น เพื่อเสริมสร้างความแข้งแรง เพิ่มภูมิต้านทานโรค และให้ยึดแนวปฏิบัติป้องกันโรคติดต่อ 3 ประการคือ กินร้อน ใช้ช้อนกลางและล้างมือบ่อยๆ การล้างมือจะสามารถขจัดเชื้อโรคที่ติดอยู่ตามฝ่ามือ ง่ามนิ้ว เล็บมือ ลงได้มากถึงร้อยละ 80     
     *************************           7 มิถุนายน 2554
 
 
 
 


   
   


View 10    07/06/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ