ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำทีมผู้บริหาร นักวิชาการผู้แทนประเทศไทย เข้าร่วมประชุมเวทีผู้นำโลกเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโรคเอดส์ ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 8 -10 มิถุนายน 2554 ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสามประเทศทั่วโลกที่ได้รับการยกย่องว่าประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาโรคเอดส์ได้ดี
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุมระดับสูงว่าด้วยโรคเอดส์ ( High-Level Meeting on HIV/AIDS) จัดโดยองค์การสหประชาชาติ ระหว่างวันที่ 8-10 มิถุนายน 2554 ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมระดับนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีสาธารณสุขจาก 160 ประเทศทั่วโลก เพื่อร่วมกันจัดทำปฏิญญาใหม่และแนวทางแก้ไขปัญหาเอดส์ทั่วโลกอย่างยั่งยืน
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ผู้อำนวยการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติได้กล่าวชมเชยประเทศไทยเป็นหนึ่งในสามประเทศทั่วโลก ที่ได้รับการยอมรับว่ามาตรการแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ของไทยประสบความสำเร็จในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์
โดยในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยได้นำเสนอมาตรการแก้ปัญหาดังกล่าวว่าในรอบ ๒๗ ปี ว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้า และประสบผลสำเร็จในการป้องกันโรคเอดส์ในกลุ่มประชาชนทั่วไป ภายใต้นโยบายถุงยางอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์ และการการป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ซึ่งสามารถดำเนินการครอบคลุมหญิงตั้งครรภ์ร้อยละ 97 ในปี 2553 ไทยมีอัตราการติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 10,000 ราย ตั้งเป้าในปี 2554 นี้จะลดให้เหลือไม่เกิน 5,000 -6,000 ราย โดยรัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายจะให้บริการครอบคลุมผู้ป่วยโรคเอดส์รายใหม่ รวมทั้งกลุ่มชายรักชาย กลุ่มขายบริการทางเพศ กลุ่มฉีดยาเสพติดเข้าเส้นให้ได้ร้อยละ 90 ภายใน 5 ปีนี้ และได้กำหนดวิสัยทัศน์สู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์ 3ประการ ได้แก่ ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ไม่มีผู้ติดเชื้อเสียชีวิตจากโรคเอดส์ และไม่มีการเลือกปฏิบัติ โดยจะผสมผสานการดำเนินงานที่ทำได้ดีอยู่แล้วให้มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งทิศทางยุทธศาสตร์การป้องกันที่สำคัญจะเน้นการทำงานในกลุ่มประชากร และพื้นที่ที่คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมาก และตัดสินใจตั้งกองทุนป้องกัน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ท้าทาย
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า มาตรการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี ประเทศไทยได้จัดบริการยาต้านไวรัสเอดส์ให้ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยในปี 2553 มีผู้ติดเชื้อได้รับยาต้านไวรัสฟรี ครอบคลุมร้อยละ 70.60 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด ในปี 2554 ได้จัดงบประมาณจำนวน 2,997 ล้านบาท และยังได้ใช้งบจากโครงการเอดส์โลก จัดยาต้านไวรัสเอดส์ดูแลกลุ่มประชากรต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาใช้แรงงานในประเทศไทยส่วนหนึ่งด้วย แต่อย่างไรก็ตามการจัดหายาต้านไวรัสเอดส์ ให้ครอบคลุมผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกคนนั้น ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะสิทธิบัตรยาต้านไวรัส เพราะหากยาแพงเกินไป จะทำให้ต้องใช้งบประมาณสูงมาก ในขณะที่ประเทศมีข้อจำกัดและมีความจำเป็นในด้านอื่นๆด้วย
ทั้งนี้จากการดำเนินงานที่ผ่านมา มีความชัดเจนว่าการยืดหยุ่นทางกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา มีส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสได้จริง และจะนำไปสู่วิสัยทัศน์ของการไม่มีการตายเนื่องมาจากโรคเอดส์ ซึ่งการกำหนดเป้าหมายของโลกให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี 15ล้านคน ให้ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสฯ จะเป็นเป้าหมายที่ประเทศต่างๆได้ร่วมกันทำให้เป้าหมายนี้เป็นจริง โดยไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับประเทศสมาชิก เพื่อให้เป้าหมายที่เป็นศูนย์ เป็นเรื่องของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใคร หรืออยู่ในประเทศใดก็ตาม
สถานการณ์โรคเอดส์ของประเทศไทย ข้อมูลล่าสุดตั้งแต่ พ.ศ. 2527 จนถึงเดือนมีนาคม 2554 หรือรอบ 27 ปี สำนักระบาดวิทยารายงานมีผู้ป่วยโรคเอดส์ 372,874 คน เสียชีวิตแล้ว 98,153 คน ร้อยละ 84 ติดเชื้อมาจากการมีเพศสัมพันธ์ ติดจากฉีดยาเสพติดเข้าเส้นร้อยละ 4 และติดเชื้อจากแม่ร้อยละ 3.6 ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก องค์การเอดส์แห่งสหประชาชาติรายงานในปี 2552 มีผู้ติดเชื้อทั่วโลก 33.3 ล้านคน เสียชีวิต 1.8 ล้านคน ในปี 2552 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่2.6 ล้านคน
*************************************** 10 มิถุนายน 2554