นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าผลการเฝ้าระวังเชื้ออี.โคไลชนิดรุนแรงโอ 104 (O 104) ในผักผลไม้นำเข้าจากยุโรปว่า ห้องตรวจปฎิบัติการวิเคราะห์อาหารทางจุลชีวะวิทยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เก็บตัวอย่างกะหล่ำปลีปมนำเข้าตรวจเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2554 ทราบผลวันที่ 11 มิถุนายน 2554 เป็นเชื้ออี.โคไล และได้ส่งต่อเพื่อตรวจยืนยันหาสารพันธุกรรม (Gene) ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ผลออกเมื่อเช้าวันนี้ (13 มิถุนายน 2554) ไม่พบสารพันธุกรรมที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร เชื้ออี.โคไลที่ตรวจพบในครั้งนี้เป็นเชื้อที่พบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเชื้อไม่ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร จึงสรุปได้ว่าตั้งแต่มีการระบาดของเชื้ออี.โคไล ชนิดรุนแรง โอ 104ในยุโรป จนถึงขณะนี้ประเทศไทยยังไม่พบเชื้อดังกล่าวในผักและผลไม้นำเข้า 

          นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุข ยังคงมาตรการเฝ้าระวังเชื้ออี.โคไล ชนิดรุนแรง โอ 104 ทั้งในคนและอาหารนำเข้า โดยได้แจกเอกสารคำแนะนำประชาชนที่เดินทางมาจาก 14 ประเทศในยุโรป จำนวน 50,000 ฉบับ หมดแล้ว ในวันนี้จะทำการพิมพ์เพิ่มอีกและแจกให้สายการบินเดิม อีก 50,000 ฉบับ

ทางด้าน นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไปกรมควบคุมโรค กล่าวถึง สถานการณ์ของโรคอุจจาระร่วงจากเชื้ออี.โคไลรุนแรง โอ 104 ล่าสุดเริ่มชะลอตัวลงมีรายงานผู้ป่วย 16 ประเทศเท่าเดิม โดย 14 ประเทศอยู่ในยุโรป และพบที่อเมริกาและแคนาดา ทั้งหมดนี้เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับจากเยอรมัน องค์การอนามัยโลกรายงานเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2554 พบผู้ป่วยติดเชื้อ 3,255 ราย เสียชีวิต 35 ราย ร้อยละ 96 ของผู้ป่วยอยู่ในประเทศเยอรมัน และทางการเยอรมันพบอาหารที่น่าจะเชื่อว่าอาจจะเป็นสาเหตุเกี่ยวข้องคือถั่วกับถั่วงอก ซึ่งมีแหล่งผลิตมาจากทางตอนเหนือของประเทศเยอรมัน ได้สั่งทำลายทิ้ง ขณะเดียวกันได้สั่งให้เก็บอาหารที่ผลิตจากตอนเหนือของเยอรมัน ให้เก็บออกจากท้องตลาด และยังคงดำเนินการสอบสวนโรคต่อไป โดยได้ให้ประชาชนสามารถรับประทานแตงกวากับมะเขือเทศที่เคยสั่งห้ามก่อนหน้านี้ได้แล้ว
          ส่วนบริการให้ข้อมูลหรือตอบข้อซักถามประชาชนเรื่องเชื้ออี.โคไล ชนิดรุนแรง โอ 104 ทางหมายเลข 1422 และ 02-590-3333 ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 7-12 มิถุนายน มีประชาชนโทรศัพท์สอบถามรวม 36 สาย ส่วนใหญ่ถามเรื่องผักกินได้หรือไม่ ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจ ในมาตรการเฝ้าระวังของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะดำเนินการคุ้มครอง ปกป้องความปลอดภัยจนกว่าสถานการณ์จะกลับคืนปกติ โดยได้นำข้อมูลวิชาการเรื่องเชื้ออี.โคไล ชนิดรุนแรง โอ 104 เผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.ddc.moph.go.
*********************************** 13 มิถุนายน 2554
 


   
   


View 2       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ