กระทรวงสาธารณสุข วางระบบความพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เจ็บป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ทั้งไทยและชาวต่างชาติ โดยจับมือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บางกอกแอร์เวย์ กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมปฏิบัติการช่วยชีวิตลำเลียงผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ตลอด 24 ชั่วโมง ใช้งบรองรับปีนี้ 100 ล้านบาท วันนี้ (16 มิถุนายน 2554) ที่ โรงแรมหาดยาวเบย์วิว รีสอร์ท เกาะพงัน จังหวัดสุราษฏร์ธานี นายแพทย์ ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมเสวนาและมอบนโยบายการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งเป็นประธานในพิธีบันทึกความร่วมมือการเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติและการลำเลียงผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินอย่างครบวงจรในเขตภาคใต้ ระหว่างผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขประจำเขต 6,7,8 ที่ดูแล 14 จังหวัดภาคใต้ กับเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 11,12 กองทัพเรือภาค 2 สงขลา กองทัพเรือภาค3 ภูเก็ต กองบังคับการตำรวจน้ำ จ.สุราษฎร์ธานี สงขลา ภูเก็ต ตรัง ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยเขต 11สุราษฎร์ธานี เขต 12 สงขลา เขต13 ภูเก็ต สำนักงานเจ้าท่าภาค 4 ภาค 5 และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่าทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยมีโอกาสเกิดภัยพิบัติอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะภัยจากธรรมชาติ เนื่องจากผลจากภาวะโลกร้อน รวมทั้งการเกิดอุบัติเหตุทั้งทางบก น้ำ และทางอากาศ กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องจัดเตรียมระบบการช่วยชีวิตประชาชนให้มีความพร้อมทุกรูปแบบทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ โดยพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินครอบคลุมทุกพื้นที่ ให้พร้อมปฏิบัติการช่วยชีวิตผู้ประสบภัย อุบัติเหตุต่างๆและเจ็บป่วยฉุกเฉินทุกประเภท ตลอด24 ชั่วโมง มีศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการทางโทรศัพท์หมายเลข 1669 ฟรี โดยได้กำหนดมาตรฐานระยะเวลาในการปฏิบัติการช่วยชีวิตผู้ป่วยและนำส่งโรงพยาบาลภายใน 10 นาทีภายหลังได้รับการแจ้งเหตุ ให้ได้ร้อยละ 80 ของการออกปฏิบัติการ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและพิการ สำหรับ 14 จังหวัดภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลาย มีทั้งภูเขา น้ำตก พื้นที่เกาะ มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมีชื่อเสียงระดับโลก แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติไปท่องเที่ยวพักผ่อนจำนวนมาก ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุได้สูง จึงต้องพัฒนาและซักซ้อมให้เกิดความพร้อมทุกด้าน เมื่อเกิดเหตุสามารถปฏิบัติการได้ทันที โดยในปีงบประมาณ 2554 นี้ได้จัดสรรงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินรองรับโดยเฉพาะ 100 ล้านบาท นายแพทย์ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าวว่า ข้อมูลสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2554 ทั่วประเทศ มีชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินขึ้นทะเบียนรับรองมาตรฐานแล้ว 10,984 ชุด มีผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งภาครัฐ เอกชนและมูลนิธิต่างๆ ขึ้นทะเบียน 122,945 คน มีรถยนต์พร้อมเครื่องมือกู้ชีพ 14,189 คัน เรือ 1,128 ลำ เครื่องบิน 101 ลำ และศูนย์รับแจ้งเหตุสั่งการแพทย์ฉุกเฉิน 78 แห่ง มีองค์กรปกครองท้องถิ่นร่วมจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 5,397 แห่ง จากทั้งหมด7,852 แห่ง ผลการดำเนินงานตั้งแต่ 21 กันยายน2553 - 20 มีนาคม 2554 ออกปฏิบัติการ 580,811 ครั้ง โดยเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินร้อยละ 60 อุบัติเหตุจราจร ร้อยละ 28 สามารถให้การช่วยเหลือภายใน 10 นาที ได้ร้อยละ 75 นายแพทย์ชาตรี กล่าวต่อว่า สถิติการปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ภาคใต้ ในปี 2554 ชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินออกให้บริการกว่า 60,682 ครั้ง ล่าสุดในเหตุการณ์อุทกภัย ดินโคลนถล่มในภาคใต้ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ออกปฏิบัติการทางน้ำช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทางน้ำได้กว่า 60 ราย และการปฏิบัติการทางอากาศ 24 เที่ยวบิน ช่วยผู้ป่วยได้ 28 ราย ซึ่งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จะมุ่งเน้นพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้ครบวงจรทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศเพิ่มมากขึ้น มีการฝึกอบรมบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเขตภาคใต้มีบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมเวชศาสตร์การบินแล้วครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัด รวม 55 คน โดยเฉพาะในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และปัตตานี ถือเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติการทางอากาศยานในเขตพื้นที่ภาคใต้ ตามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่จัดตั้งและพัฒนาระบบบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน การส่งต่อผู้ป่วย ในเขตพื้นที่ใน 14 จังหวัดภาคใต้ ครบวงจรทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งภาวะปกติ และภาวะวิกฤติฉุกเฉิน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณ สนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ให้ผู้ป่วยได้รับบริการตามสิทธิตามกฎหมาย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณ เพื่ออุดหนุนการปฏิบัติการของชุดปฏิบัติการหน่วยกู้ชีพรวมถึงประสานงานติดต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้การปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนกองทัพเรือ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สายการบินบางกอกแอร์เวย์ และกองบังคับการตำรวจน้ำ ทำหน้าที่ ส่งเสริม สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติการรักษาพยาบาลของหน่วยแพทย์กู้ชีพ เช่นสนับสนุนเรือ เครื่องบิน เพื่อลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินไปยังโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ ************************************************** 16 มิถุนายน 2554


   
   


View 10    16/06/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ