วันนี้(17 มิถุนายน 2554) ที่ โรงแรมหาดยาวเบย์วิว รีสอร์ท เกาะพงัน จังหวัดสุราษฏร์ธานี นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 6 นายแพทย์วิรัช เกียรติเมธา สาธารณสุขนิเทศก์ปฎิบัติหน้าที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 7 นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 8และนายแพทย์ชาตรี เจริญชีวกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เปิดประชุมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับเข้าร่วมประชุม เพื่อวางแนวทางพัฒนาประสิทธิภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยและระบบการส่งต่อผู้ป่วยหนัก

นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์การรักษาพยาบาล โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยที่จำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล พบว่าในปี 2552 ผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมากที่สุดร้อยละ65 หรือประมาณ 2ใน3 รองลงมาคือโรงพยาบาลเอกชน ร้อยละ 24 และสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยร้อยละ 4 ในภาพรวมอัตราการรักษาผู้ป่วยในในปี 2552 ร้อยละ13 เพิ่มจากปี 2538 ซึ่งมีร้อยละ10 โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้เพิ่มสูงที่สุดในประเทศร้อยละ16 เนื่องจากเป็นโรคที่มีอาการรุนแรงเช่นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายที่จะจัดบริการสุขภาพให้มีมาตรฐานและรวดเร็วขึ้น ได้มอบให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกเขต ร่วมกับผู้บริหารในระดับจังหวัด วางแผนการจัดบริการในแต่ละเขตและภายในภาค โดยในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ได้มีการจัดทำข้อตกลง ระหว่างเขตตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตที่6,7 และ8 เพื่อร่วมกันจัดบริการและจัดระบบการเชื่อมประสานการส่งต่อผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพ
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวว่า ตามข้อตกลงดังกล่าว ได้กำหนดให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีเครื่องมือ เทคโนโลยี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ 2 แห่ง เป็นศูนย์เชี่ยวชาญรักษาผู้ป่วย โดยให้โรงพยาบาลศูนย์สุราษฎร์ธานี ดูแล 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน คือชุมพร ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ นครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี ส่วนที่เหลืออีก 7 จังหวัดตอนล่าง ให้โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ดูแล คือพัทลุง ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลา ส่วนระบบการส่งต่อผู้ป่วย จะใช้ลักษณะไร้ขอบเขตจังหวัด ใกล้ที่ไหนเข้าที่นั่น รักษาชีวิตของผู้ป่วยให้ดีที่สุด จะยึดตามพื้นที่ภูมิศาสตร์ และความสะดวกของผู้รับบริการเป็นหลัก
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ในการพัฒนาศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคของภาคใต้นั้น ได้วางแผนพัฒนาโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีและโรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ เป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุ โดยโรงพยาบาลศูนย์สุราษฎร์ธานีจะเป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านหัวใจ ด้านทารกแรกเกิดและศูนย์เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง จะพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์อีก 6 แห่งในภาคใต้ได้แก่ วชิระภูเก็ต มหาราชนครศรีธรรมราช ชุมพร ตรัง ยะลา และนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นโรงพยาบาลรองรับการรักษาผู้ป่วยที่ป่วยรุนแรง ป่วยหนัก และพัฒนาโรงพยาบาลทั่วไป 12 แห่งได้แก่ระนอง เกาะสมุย พังงา ตะกั่วป่า กระบี่ ทุ่งสง พัทลุง สงขลา สตูล เบตง ปัตตานีและสุไหงโก-ลก เป็นโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยที่ต้องใช้แพทย์เฉพาะสาขาดูแล เป็นเครือข่ายรองรับผู้ป่วยภายใน 14 จังหวัดภาคใต้ มั่นใจว่าผู้ป่วยจะได้รับบริการที่มีคุณภาพ อยู่ใกล้ที่ไหน เดินทางไปใช้บริการที่นั่นได้ เนื่องจากอยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเหมือนกัน 
******************************************* 17 มิถุนายน 2554


   
   


View 15    17/06/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ