เบื้องต้นสันนิษฐานไม่น่าจะใช่เชื้ออี.โคไล โอ 104 ยันในไทยยังไม่พบผู้ติดเชื้อชนิดนี้
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานีเร่งหาสาเหตุการเสียชีวิตของชายชาวต่างชาติวัย 66 ปี ที่จังหวัดอุดรธานี เก็บตัวอย่างอุจจาระสงตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุดรธานี และรพ.อุดรธานี จะทราบผลใน 2-3 วันนี้ เบื้องต้นสันนิษฐานเหตุเสียชีวิตไม่น่าจะใช่เชื้ออี.โคไล โอ 104 ยันยังไม่มีผู้ป่วยจากเชื้อนี้ในไทย
จากกรณีที่มีชายชาวต่างชาติ อายุ 66 ปี เสียชีวิตหลังมีอาการถ่ายเหลว ขณะพักที่โรงแรมในจังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2554 นั้นความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว วันนี้(21 มิถุนายน 2554) นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ส่งหน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ลงตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตของชายดังกล่าวเป็นการด่วน ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ขอนแก่น จากรายงานเบื้องต้น คาดว่าไม่น่าจะมีสาเหตุจากเชื้ออี.โคไล โอ 104 เนื่องจากรายนี้เดินทางเข้ามาประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2554 และเกิดอาการท้องเสียเมื่อวันที่ 18-19 มิถุนายน 2554 ซึ่งหากเป็นเชื้ออี.โคไล โอ104 จากต่างประเทศ น่าจะมีอาการไม่เกิน 10 วัน หลังเดินทางเข้าประเทศ เพราะเชื้อนี้มีระยะฟักตัว 2-10 วัน ส่วนสภาพของอุจจาระที่ถ่ายเหลวออกมานั้น ยังบอกไม่ชัดเจนว่ามีมูกเลือดหรือไม่
โดยเจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างจากอุจจาระตามห้องน้ำ เสื้อผ้าของผู้เสียชีวิต ส่งตรวจเพาะเชื้อที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์จังหวัดอุดรธานี และรพ.อุดรธานี จะทราบผลใน 2-3 วันนี้ อย่างไรก็ตามสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานีได้ให้เจ้าหน้าที่ทำการเฝ้าระวังผู้สัมผัสอื่นที่เกี่ยวข้องเช่นแม่บ้านโรงแรม หรือร้านอาหารที่ผู้เสียชีวิตไปรับประทาน เพื่อติดตามอาการป่วยอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนประชาชนให้ดูแลความสะอาดของอาหารและน้ำดื่ม ล้างมือก่อนปรุงหรือรับประทานอาหาร และหลังจากใช้ห้องน้ำห้องส้วม ให้รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ และใช้ช้อนกลางเมื่อกินอาหารร่วมกับคนอื่น และขอยืนยันว่าจนถึงขณะนี้ ในประเทศไทยยังไม่พบผู้ป่วยจากเชื้ออี.โคไล โอ 104
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อไปว่า จากวิกฤติเชื้ออี.โคไล โอ 104 ที่เกิดขึ้นในยุโรป และประเทศต่างๆได้ตื่นตัวในเรื่องความสะอาดของอาหาร น้ำดื่ม นับเป็นโอกาสที่ประเทศไทย จะเร่งรัดมาตรการด้านความสะอาดของระบบสุขาภิบาลอาหารและน้ำดื่มทั้งประเทศ เพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินอาหารอื่นๆที่พบในประเทศไทยอยู่แล้วด้วย ได้สั่งการให้เร่งยกระดับมาตรฐานความสะอาดร้านอาหาร แผงลอย ตลาดสดทุกประเภททั่วประเทศ ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งล่าสุดนี้มีนโยบายให้กรมอนามัยจัดหลักสูตรอบรมผู้สัมผัสอาหารในร้านอาหาร เช่น ผู้ปรุงอาหาร พนักงานเสิร์ฟเป็นต้น และให้บัตรประจำตัว เป็นการแสดงว่าได้ผ่านการอบรม มีความรู้ในการประกอบอาหารอย่างถูกหลักอนามัยมาแล้ว เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในเรื่องความสะอาดยิ่งขึ้น
ทางด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมวอร์รูมโรคจากเชื้ออี.โคไล โอ104 ที่กรมควบคุมโรคเวลา 8.00 น. เพื่อประเมินสถานการณ์และวางมาตรการควบคุมป้องกันที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคทางเดินอาหารที่สำคัญในประเทศตั้งแต่ 1 มกราคม 2554 ถึงปัจจุบัน มีทั้งหมด 633,206 ราย เสียชีวิต 28 ราย พบมากที่สุดคือโรคอุจจาระร่วง จำนวน 583,501 ราย เสียชีวิต 26 ราย รองลงมาคือโรคอาหารเป็นพิษ ป่วย 44,555 ราย โรคทางเดินอาหารที่พบเกิดจากการติดเชื้อในประเทศ เช่น เชื้อบิดชิเกลล่า (Shigella) เชื้อวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส ( Vibrio Parahaemolyticus) เชื้ออี.โคไลซึ่งเป็นชนิดไม่รุนแรง ยังไม่พบเชื้ออี.โคไลชนิดรุนแรงโอ 104
******************************** 21 มิถุนายน 2554