สาธารณสุข ชี้ไข้ดำแดงไม่ใช่โรคใหม่ ในไทยพบได้ตลอดปี พบมากในกลุ่มอายุ 2-14 ปี ปีนี้พบป่วย 524 ราย ไม่มีเสียชีวิต   โรคนี้ติดกันทางไอจาม โรคนี้หลังป่วยแล้วจะมีภูมิต้านทาน โอกาสเป็นซ้ำน้อย  วิธีป้องกันขอให้หลีกเลี่ยงคลุกคลีผู้ป่วย การใช้สิ่งของร่วมกัน ล้างมือบ่อย ๆ  จุดที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนระดับประถม  ส่วนผู้ที่จะเดินทางไปฮ่องกงขอให้ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ล้างมือบ่อย ๆ  

          จากกรณีมีรายงานข่าวการะบาดของโรคไข้ดำแดงระบาด ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง  ตลอดปีนี้พบผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 400 ราย เสียชีวิต 2 ราย ส่วนใหญ่พบในเด็ก โดยช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนมิถุนายนพบผู้ติดเชื้อกว่า 100 ราย และฮ่องกงสั่งปิดโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันนี้นั้น
          ความคืบหน้าในเรื่องนี้ นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า โรคไข้ดำแดง (Scarlet Fever) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่มีชื่อว่า สเตรปโตคอคคัส กลุ่มเอ ( Streptococcus Group A) โรคนี้ไม่ใช่เป็นโรคใหม่ พบได้ทั่วไป  ในไทยพบโรคนี้มานานแล้ว พบทุกกลุ่มอายุ แต่พบมากที่สุดในเด็กวัย 2-14 ปี คิดเป็นร้อยละ 60 ไม่เคยมีรายงานเสียชีวิตในไทย ในปี 2554 ตั้งแต่เดือนมกราคม – ปัจจุบัน พบผู้ป่วยไข้ดำแดง 524 ราย ไม่มีเสียชีวิต
          อย่างไรก็ดีในการป้องกันโรคดังกล่าว ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เร่งเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อดูแลป้องกันการเกิดโรค โดยจุดที่เน้นย้ำให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษได้แก่สถานเลี้ยงเด็กเล็กหรือเนิร์สเซอรี่ โรงเรียนอนุบาลและระดับประถมศึกษาตอนต้น ซึ่งมีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก ขอให้ดูแลรักษาความสะอาดของใช้ เครื่องเล่นในโรงเรียน โดยให้ล้าง เช็ดทำความสะอาดทุกวัน และให้สังเกตอาการผิดปกติของเด็ก หากพบเด็กป่วย มีไข้สูง ขอให้แยกเด็กออกจากเด็กทั่วไปและไปพบแพทย์ เพราะโรคนี้ติดต่อได้จากการสัมผัส และการไอจาม    และให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ก็ได้
          ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อาการโรคไข้ดำแดง จะเริ่มจากมีไข้ เจ็บคอ มีผื่นแดงขึ้นตามตัวและคอหลังมีไข้ 1-2 วัน จากนั้นผื่นจะกระจายไปยังแขนขา   รักแร้ ขาหนีบ ผื่นจะมีลักษณะคล้ายกระดาษทราย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรค   มักเกิดในเด็กอายุ 2-8 ปี โดยผื่นจะยุบหายเองประมาณ 1 สัปดาห์และผิวจะลอกออก บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อน เช่นติดเชื้อที่หูชั้นกลาง และที่ไต อาการจะปรากฏหลังติดเชื้อประมาณ 1-3 วัน โรคนี้ติดต่อกันได้ทางการไอจาม เชื้อจะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย เมื่อมีเด็กป่วยในบ้าน ให้แยกเด็กป่วยออก ไม่ให้คลุกคลีกับคนทั่วไป   ให้ผู้ป่วยล้างมือบ่อยๆ ใช้ผ้าปิดปากจมูกขณะไอหรือจาม และดูแลความสะอาดของใช้เช่นแก้วน้ำ ที่ผ่านมาผู้ป่วยที่พบในประเทศไทย อาการไม่รุนแรง บางรายหายเองได้  โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่รายใดที่เป็นโรคแล้วจะมีภูมิต้านทาน โอกาสเป็นซ้ำน้อย  
ในรอบ 3 ปีมานี้ ในไทยพบรายงาน 50 จังหวัดกระจายทุกภาค ส่วนใหญ่พบมากในภาคเหนือและภาคตะวันอออกเฉียงเหนือ ตลอดปี 2553 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 1,815 ราย ไม่มีเสียชีวิต หรือมีอาการรุนแรง อย่างไรก็ดีสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปฮ่องกงในช่วงนี้ ขอให้เตรียมตัว โดยดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆกรณีพาเด็กไปด้วยหลังกลับจากเดินทาง หากเด็กมีไข้ เจ็บคอ มีผื่นขึ้น ขอให้ปรึกษาแพทย์
.............................       23 มิถุนายน 2554
 


   
   


View 13    23/06/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ