กระทรวงสาธารณสุข จัดรณรงค์  “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ปลุกกระแสให้ประชาชนลด ละ เลิก บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และชำระล้างจิตใจในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาถวายเป็นพุทธบูชาและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เผยเหล้าเป็นสาเหตุหลักทำให้การหย่าร้างพุ่งปีละกว่า 100,000 คน เป็นสาเหตุก่อทะเลาะวิวาท บาดเจ็บเข้าโรงพยาบาลร้อยละ 45 และก่อคดีอาญาทางเพศร้อยละ 35  

วันนี้ (28 มิถุนายน 2554) ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ศิริวัฒน์  ทิพย์ธราดล  รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แถลงข่าวกิจกรรมรณรงค์ “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ประจำปี 2554” เพื่อสร้างกระแสให้ประชาชนลด ละ เลิกบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งตรงกับวันที่ 16 กรกฎาคม 2554 รวมทั้งตระหนักถึงโทษและภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และใช้โอกาสช่วงเทศกาลเข้าพรรษาเริ่มต้นสร้างพฤติกรรมสุขภาพดี  เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 

                      

                    

นายแพทย์ศิริวัฒน์ กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ประกาศห้ามร้านค้าทั่วไป ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่4 วัน ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาที่มาจากการดื่มเหล้า ทั้งตัวผู้ดื่มโดยตรงซึ่งก่อให้เกิดโรคกว่า 60 โรค เช่นโรคมะเร็ง ตับแข็ง โรคเบาหวาน สร้างความสูญเสียรายได้ปีละแสนล้านบาท และก่อให้เกิดปัญหาสังคม โดยพบว่าร้อยละ45 ของผู้บาดเจ็บที่ถูกทำร้ายจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และร้อยละ 35 ของคดีอาญาทางเพศ เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

นอกจากนี้ยังพบคดีอุบัติเหตุจราจรที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2538-2552 ร้อยละ 48 เกิดจากเมาแล้วขับ แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 13,000 คน บาดเจ็บมากกว่า 1 ล้านคน ส่วนผลกระทบด้านครอบครัว จากงานศึกษาของ รศ.นพ.รณชัย คงสกนร์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่าครอบครัวที่มีการดื่มสุรา จะมีปัญหาความรุนแรงในครอบครัว มากกว่าครอบครัวที่ไม่ดื่มสุราถึง 4 เท่า และจากข้อมูลกรมการปกครอง ในปี 2550 มีการหย่าร้างรวม 100,420 ราย เพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2530 กว่า 3 เท่าตัว โดยมีสุราเป็นสาเหตุหลักของการหย่าร้าง ผ่านความรุนแรงในครอบครัว จึงต้องรณรงค์และให้ศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจในการลดเลิกดื่มเหล้าให้สำเร็จ  

                         

ทางด้านนายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่าผลการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2554 ได้เฝ้าระวัง ตรวจเตือนร้านค้าเหล้า จำนวน 1,941 ราย โดยอยู่ในเขตกทม. 538 ราย และต่างจังหวัด 1,403 ราย ในจำนวนนี้กล่าวโทษดำเนินคดี 238 ราย ร้อยละ 93 อยู่ในต่างจังหวัด

ดังนั้น ในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษานี้ ซึ่งตรงกับวันที่ 15 และ 16 กรกฎาคม 2554 ขอความร่วมมือผู้ประกอบการและสถานบริการทุกแห่ง  ให้หยุดบริการและห้ามจำหน่ายสุราในวันดังกล่าวหากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6เดือนปรับไม่เกิน 10,000บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งที่ผ่านมาสถานบริการส่วนใหญ่ให้ความร่วมมืออย่างดีแต่ก็ยังมีบางแห่งที่ไม่เข้าใจและเปิดให้บริการ เช่น ร้านขายของชำ หรือร้านค้าในชุมชนหากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดสามารถโทรแจ้งได้ที่ศูนย์ร้องเรียนสุรา กรมควบคุมโรค หมายเลข0-2590-3342 ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับสถานการณ์การดื่มสุราล่าสุดใน 2550 สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานผลสำรวจในกลุ่มอายุ 15 ปี ขึ้นไปซึ่งมีจำนวน 51.2 ล้านคน พบว่าเป็นผู้ดื่มเหล้า 14.9 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 29 ผู้ชายดื่มมากกว่าผู้หญิง 6 เท่าตัว โดยแนวโน้มการดื่มลดลงจากจากปี 2544 ประมาณร้อยละ 4 กลุ่มที่ดื่มมากที่สุดคือกลุ่มที่จบการศึกษาระดับปวส./ ปวท./ อนุปริญญา พบร้อยละ 36 ส่วนผู้ที่จบระดับปริญญาตรีดื่มน้อยที่สุดร้อยละ 24 เริ่มดื่มอายุเฉลี่ย 20.5 ปี โดยผู้ชายเริ่มดื่มเมื่ออายุ 19.5 ปี ส่วนผู้หญิงจะเริ่มดื่มเมื่ออายุ 25.9 ปี ค่าใช้จ่ายซื้อเหล้าเฉลี่ย 298 บาทต่อเดือน หากคำนวณแล้วผู้ที่ดื่มเหล้าจะต้องเสียเงินซื้อเหล้าตกปีละประมาณ 54,000 ล้านบาท โดยผู้ดื่มในกทม. เสียเงินซื้อเหล้าดื่มสูงสุดเฉลี่ยเดือนละ 521 บาทต่อเดือน

********************************************* 28 มิถุนายน 2554



   
   


View 13    28/06/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ