ล่าสุดปี2552 จำนวน 56,000 ราย จับมือ รพ.จุฬาภรณ์ พัฒนาระบบป้องกันควบคุมที่ จ.ร้อยเอ็ด     

          กระทรวงสาธารณสุขร่วมมือกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ศึกษาวิจัยพัฒนาระบบป้องกันและควบคุมมะเร็งในประเทศ 5 ปีนำร่องในจังหวัดร้อยเอ็ด น้อมรับพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี โดยศึกษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งปากมดลูก การทำวิจัยการเกิดโรคมะเร็งในระยะยาว เผยสถิติล่าสุด มะเร็งเป็นสาเหตุเสียชีวิตคนไทยครองอันดับ 1 สูงติดต่อกัน 10 ปี ในปี 2552 มีเสียชีวิตกว่า 56,000 ราย    
        วันนี้(29 มิถุนายน 2554)นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาศูนย์มะเร็งเฉลิมพระเกียรติ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี  
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า สถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยขณะนี้นับว่าน่าเป็นห่วงที่สุด แนวโน้มการป่วยและเสียชีวิตสูงขึ้นต่อเนื่อง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 1 ของคนไทยติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2543 โดยในปี 2552 มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 56,058 ราย ร้อยละ 58 เป็นชาย อีกร้อยละ 42 เป็นหญิง นับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเกือบร้อยละ 20 ของผู้เสียชีวิตทั้งประเทศที่มีปีละประมาณ 300,000 ราย ประมาณร้อยละ 50 ของผู้เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุ ที่เหลืออายุระหว่าง 15-59 ปี มะเร็งที่เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตอันดับมากสุดคือมะเร็งตับ รองลงมาคือมะเร็งหลอดลมปอด มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก จึงต้องเร่งพัฒนาระบบป้องกันและควบคุม
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่าโรคมะเร็งใช้เวลาก่อตัวนานหลายปีชนิดค่อยเป็นค่อยไป กระทรวงสาธารณสุขร่วมมือกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สนองพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ทรงตระหนักถึงผลกระทบของโรคมะเร็งและทรงห่วงใยช่วยเหลือคนไทยให้พ้นทุกข์ทรมานจากโรคมะเร็ง โดยจัดทำโครงการศึกษารูปแบบการป้องกันและควบคุมมะเร็ง มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2553-2557 เพื่อให้รู้สถานการณ์จริงของพื้นที่และให้ประชาชนได้รับบริการป้องกันที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง นำร่องต้นแบบที่จังหวัดร้อยเอ็ด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมทั้งระบบข้อมูลและบุคลากร
ด้านนายแพทย์ภาสกร ไชยเศรษฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ตามความร่วมมือครั้งนี้ ในปี 2553 ดำเนินการ2 โครงการคือ 1.โครงการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ที่อำเภอพนมไพรและหนองฮี  มีเป้าหมายตรวจคัดกรองผู้ที่มีอายุ 50ปี ขึ้นไป จำนวน 10,000 ราย ผลการตรวจเบื้องต้นพบผิดปกติ 829 ราย โดยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ 12 ราย ผู้ป่วยทั้ง 12 รายได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์และอยู่ระหว่างติดตามผลการรักษา 2.โครงการป้องกันควบคุมโรคมะเร็งตับในผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ที่อำเภอเมือง พนมไพรและหนองฮี มีเป้าหมายตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ในผู้ที่มีอายุ 20-65 ปี จำนวน 10,000 ราย และตรวจประเมินด้วยอัลตราซาวด์ พร้อมให้ยาต้านไวรัสและติดตามผลต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งไวรัสตับอักเสบบีนี้ จะมีความเสี่ยงสูงทำให้เกิดโรคตับแข็ง และมะเร็งของเซลล์ตับ ข้อมูลถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2554 ตรวจคัดกรองแล้ว 7,000 คน พบติดเชื้อไวรัสตับอักเสบประมาณ 900 ราย     
นายแพทย์ภาสกร กล่าวต่อว่า ในปี 2554 มีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการเพิ่มอีก 3 โครงการ ได้แก่1.โครงการป้องกันควบคุมมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV: Human Papilloma virus ) ในกลุ่มสตรีอายุ 20-70 ปี จำนวน 5,000 ราย โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการให้วัคซีนทางใต้ผิวหนังเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันมะเร็งปากมดลูกในอนาคตด้วย 2.โครงการวิจัย ข้อมูลฐานการเกิดโรคมะเร็งและโรคอื่นๆที่สำคัญของประชากรในระยะยาว โดยการสัมภาษณ์ ตรวจร่างกาย ตรวจทางห้องปฎิบัติการ การตรวจพิเศษ และการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อไว้ศึกษาในระยะยาว เป้าหมายจำนวน 100,000 คน 3.โครงการพัฒนาระบบการเชื่อมต่อเทคโนโลยีสารสนเทศระหว่างโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลร้อยเอ็ดและโรงพยาบาลพนมไพร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อบริการผู้ป่วยมะเร็งและติดตามผลการวิจัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากได้รูปแบบชัดเจนแล้ว กระทรวงสาธารณสุขจะนำไปขยายผลเพื่อใช้ควบคุมป้องกันโรคมะเร็งทั่วประเทศต่อไป 
 
**************************************** 29 มิถุนายน 2554


   
   


View 15    29/06/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ