ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 15 View
- อ่านต่อ
โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยในปี 2552 พบเกษตรกรเจ็บป่วยเพราะโดนพิษจากสารกำจัดศัตรูพืชเกือบ 2,000 ราย ภาคเหนือมากที่สุด พบสูงสุดในช่วงเดือนมิถุนายน- กรกฎาคม แนะวิธีการป้องกัน ก่อนใช้สารเคมีต้องอ่านฉลากให้เข้าใจวิธีการใช้และปฏิบัติตามข้อแนะนำอย่างเคร่งครัด สวมเสื้อผ้า ถุงมือ หน้ากากให้มิดชิดระหว่างฉีดพ่น และอาบน้ำทันทีหลังฉีดเสร็จ เก็บสารเคมีให้ห่างไกลจากเด็ก สัตว์เลี้ยง
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้เป็นฤดูกาลเพาะปลูก กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยสุขภาพเกษตรกร เนื่องจากมีการนำสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชมาใช้จำนวนมาก และเกิดอันตรายตามมาจากการใช้ไม่ถูกวิธี โดยสารเคมีสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือทางผิวหนัง ทางปาก และการหายใจ
ตั้งแต่ปี 2543-2552 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานพบผู้ป่วยจากพิษสารกำจัดศัตรูพืชเฉลี่ยปีละ 1,996 ราย เฉพาะในปี 2552 มีรายงาน 1,691 ราย ไม่มีเสียชีวิต ผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 3 ป่วยในช่วงเดือนมิถุนายน –กรกฎาคม โดยพบที่ภาคเหนือมากเป็นอันดับ 1 ร้อยละ 48 รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 27 ภาคกลางร้อยละ 21 ส่วนภาคใต้พบน้อยที่สุด ร้อยละ 4 จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยมากที่สุด 10 อันดับแรกได้แก่ กำแพงเพชร อุทัยธานี ตราด เชียงราย สุโขทัย พะเยา นครสวรรค์ แม่ฮ่องสอน จันทบุรี และศรีสะเกษ กลุ่มอายุ 55-64 ปีมีการเจ็บป่วยมากที่สุด
นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อไปว่า การป้องกันพิษจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เกษตรกรควรใช้อย่างถูกวิธีตามฉลากกำหนด สวมเสื้อผ้า หน้ากาก ถุงมือ รองเท้าให้มิดชิดทุกครั้งระหว่างการผสม การฉีดพ่นสารเคมี และอาบน้ำทันทีหลังฉีดพ่นเสร็จ ไม่ควรฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชขณะลมแรงหรือมีฝนตก เนื่องจากจะมีความเสี่ยงสูงในการสัมผัสกับสารเคมี และระหว่างฉีดควรยืนอยู่เหนือลมเสมอ การเก็บสารเคมีต้องให้ห่างไกลเด็กเล็ก และไม่ควรนำภาชนะบรรจุสารเคมีมาใช้บรรจุน้ำดื่มหรือใส่อาหารเพื่อรับประทาน เพราะสารเคมีอาจปนเปื้อนในน้ำและอาหารได้
นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่ออีกว่า หากมีสารเคมีเปื้อนที่ผิวหนัง ให้ใช้น้ำสะอาดล้างอย่างน้อย 15 นาที และรีบอาบน้ำ ฟอกสบู่เปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีหลังจากฉีดพ่น หากมีอาการผิดปกติ ซึ่งโดยทั่วไปจะเกิดขึ้นหลังฉีดพ่นสารเคมีทันทีหรือภายใน 24 ชั่วโมง เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปวดท้อง คัน ระคายเคืองผิวหนัง มีผื่นแดง ปวดศีรษะ มึนงง เหงื่อออก น้ำตาไหลผิดปกติ กล้ามเนื้อบิดเกร็ง มีน้ำลายมาก พูดไม่ชัด คลื่นไส้ อาเจียน ให้หยุดใช้สารเคมี และรีบไปพบแพทย์ ควรจดจำชื่อสารเคมี หรือนำขวดหรือภาชนะบรรจุสารเคมีไปด้วย เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยและรักษาของแพทย์
ทั้งนี้ หากมีผู้ที่มีอาการหมดสติหลังจากใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในการช่วยเหลือเบื้องต้น ให้รีบนำผู้ป่วยไปยังที่มีอากาศบริสุทธิ์ หากมีสารเคมีเปรอะเปื้อนตามร่างกาย ให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาด หากมีสารเคมีเข้าตา ให้ใช้น้ำสะอาดล้างไหลผ่านตานานๆประมาณ 10-15 นาทีเพื่อขจัดสารเคมีออกให้มากที่สุด และนำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน นายแพทย์สุพรรณกล่าว
************************** 24 กรกฎาคม 2554