กระทรวงสาธารณสุขเผยองค์การอนามัยโลกคาดอีก 14 ปีข้างหน้าทั่วโลกจะมีผู้สูงอายุมากกว่า 800 ล้านคน ในไทยคาดอีก 19 ปี จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 17 ล้านคน ล่าสุดในปี 2553 ไทยมีผู้สูงอายุ 8 ล้านคน โดยมีผู้สูงอายุยืน 100 ปีขึ้นไปกว่า 13,000 คน จับมือกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำโครงการพัฒนารูปแบบบูรณาการงานบริการผู้สูงอายุในชุมชนทั้งเรื่องสุขภาพและสวัสดิการสังคมอย่างยั่งยืน นำร่องในจังหวัดต้นแบบ 4 จังหวัด 4 ภาค จะประเมินผลในปลายปีนี้
วันนี้ (29 กรกฎาคม 2554) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กทม. นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการเพื่อพัฒนารูปแบบการบูรณาการงานบริการสุขภาพและสวัสดิการสังคมแก่ผู้สูงอายุในชุมชน ประจำปี 2554 รองรับการเป็นสังคมของผู้สูงอายุในอนาคต มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขใน 4 จังหวัด ได้แก่นนทบุรี ขอนแก่น เชียงราย สุราษฎร์ธานีชมรมผู้สูงอายุ ผู้แทนจากองค์กรเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ ร่วมประชุมจำนวน 300 คน
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า จากการคาดการณ์ขององค์การอนามัยโลกในพ.ศ.2568 หรืออีก 14 ปีข้างหน้าทั่วโลกจะมีผู้สูงอายุมากกว่า 800 ล้านคน ซึ่ง 2 ใน 3 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2553 ทั่วประเทศมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 8 ล้านกว่าคน คิดเป็นร้อยละ 12 ของประชากรทั้งหมด และในปี 2573 หรืออีก 19 ปี ไทยก็จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 17 ล้านคน หรือ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดเช่นกัน ขณะนี้ไทยมีผู้สูงอายุ อายุยืน 100 ปีขึ้นไปจำนวน 13,692 คน มากที่สุดที่จังหวัดนครศรีธรรมราช 591 คน รองลงมาคือยะลา 563 คน และสมุทรปราการ 558 คน
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า เมื่ออายุมากขึ้น จะทำให้เกิดความเสื่อมถอยของอวัยวะต่างๆ ทำให้ผู้สูงอายุเกิดโรคได้ง่าย โดยผลการสำรวจสุขภาพล่าสุดในปี 2551-2552 พบผู้สูงอายุไทย 1 ใน 5 เป็นต้อกระจก และมีปัญหาหูตึงเกือบ 1 ใน 3 และยังมีปัญหาโรคประจำตัวที่พบมากอันดับ 1 ได้แก่ โรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 44 โรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อเช่นเบาหวาน ร้อยละ 22 โรคข้อเสื่อม กระดูกพรุน ร้อยละ14 ซึ่งผู้สูงอายุเหล่านี้จะต้องได้รับการจัดบริการดูแลที่เหมาะสมทั้งในบ้าน ในชุมชนและสถานพยาบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำโครงการพัฒนารูปแบบบริการสุขภาพและสวัสดิการสังคมเช่นด้านอาชีพ รายได้ แก่ผู้สูงอายุเชิงบูรณาการในชุมชนอาศัย ตั้งแต่ปี 2550 – 2554 เพื่อใช้เป็นต้นแบบของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการดูแลผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน นำร่องใน 4 ชุมชน 4 จังหวัด 4 ภาค ได้แก่ นนทบุรี ขอนแก่น เชียงราย และสุราษฎร์ธานี โดยได้รับการสนับสนุนวิชาการจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นหรือไจก้า (JICA) จะประเมินผลในปลายปีนี้ และขยายผลทั่วประเทศต่อไป
ทั้งนี้ในการดำเนินงานใน 4 ชุมชนต้นแบบเบื้องต้น เน้น4 เรื่องใหญ่ได้แก่การสร้างรูปแบบการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้สูงอายุ การจัดระบบบริการแก้ไขปัญหาโรคตา การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงอายุที่ป่วย และการให้บริการผู้สูงอายุเคลื่อนที่โดยมีชุมชนเป็นเจ้าภาพแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการงานไปพร้อม ๆ กัน
............................. 29 กรกฎาคม 2554