สธ. สอบสวนโรคกรณี เด็กนักเรียนระยอง 2 แห่ง ป่วยเป็นอุจจาระร่วงหลังร่วมงานกีฬาสี ส่วนใหญ่อาการป่วยไม่รุนแรง
- สำนักสารนิเทศ
- 729 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ย้ำเตือนประชาชนที่มีบาดแผล รอยถลอกที่เท้า หรือขา เดินลุยน้ำให้ระวัง“ติดเชื้อโรคฉี่หนู” ปีนี้พบทั่วประเทศป่วยแล้ว 1,043 ราย มากที่สุดที่บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และนครศรีธรรมราช เสียชีวิต 16 ราย ชี้เด็กเล็กก็มีโอกาสติดเชื้อฉี่หนูได้ อาจทำให้ผู้ปกครองเข้าใจผิดคิดว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือเป็นโรคทางเดินอาหาร
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในฤดูกาลที่มีฝนตกชุก ประชาชนจะมีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อโรคฉี่หนูสูงกว่าฤดูกาลอื่น เนื่องจากมีแหล่งน้ำขังจำนวนมาก โดยเชื้อโรคฉี่หนู (Leptospirosis) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียมีรูปร่างคล้ายเกลียว อาศัยอยู่ในฉี่ของหนู จะปนเปื้อนอยู่ตามแหล่งน้ำขังต่างๆ มีชีวิตอยู่ในน้ำได้นานหลายเดือนจนถึงปี เมื่อคนที่มีบาดแผล มีรอยขีดข่วน รอยถลอกที่เท้า ขา เดินลงไปเดินลุย หรือเล่นน้ำ เชื้อจะไชผ่านทางบาดแผลเข้าสู่ร่างกาย หรือไชผ่านเยื่อบุต่างๆ เช่นเยื่อบุตา และเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดอาการป่วย ซึ่งลักษณะเฉพาะโรคนี้คือ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะอาการปวดที่น่อง ตาแดงแบบไม่มีขี้ตา คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว
สถานการณ์โรคฉี่หนูในปี 2554 ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนกรกฎาคม 2554 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 1,043 ราย เสียชีวิต 16 ราย พบผู้ป่วยมากที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 568 ราย จังหวัดที่มีรายงานมากที่สุดได้แก่บุรีรัมย์ 83 ราย ขอนแก่น 76 ราย ศรีสะเกษ 74 ราย ภาคที่พบผู้ป่วยรองลงมาคือภาคใต้จำนวน 292 ราย โดยพบที่จังหวัดนครศรีธรรมราชมากที่สุด 70 ราย สุราษฎร์ธานี 42 ราย และสงขลา 38 ราย ภาคเหนือพบผู้ป่วย 148 ราย มากที่สุด ที่น่าน 36 ราย และเชียงราย 26 ราย ส่วนภาคกลาง มีจำนวน 35 ราย มากที่สุดที่ชัยนาท 7 ราย พระนครศรีอยุธยา 6 ราย
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า เมื่อวิเคราะห์รายอาชีพของผู้ป่วย พบว่าร้อยละ 53 ของผู้ป่วยหรือ 553 ราย เป็นเกษตรกร ส่วนที่เหลือเป็นนักเรียน 133 ราย นักบวช 4 ราย ทหารตำรวจ ข้าราชการ 22 ราย ทำงานบ้าน 27 ราย โดยเฉพาะในเด็กเล็กมีโอกาสติดเชื้อโรคฉี่หนูได้ แม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ เนื่องจากเด็กสามารถวิ่งเล่นในบริเวณรอบบ้านหรือลงไปเล่นตามแหล่งน้ำขัง จึงมีโอกาสสัมผัสเชื้อได้ และมีอาการป่วยเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ แต่ผู้ปกครองมักคิดไม่ถึง คิดว่าเด็กป่วยเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือคิดว่าเป็นโรคระบบทางเดินอาหาร ส่วนเด็กเล็กเองมักจะไม่สามารถบอกเล่าอาการป่วยบางอย่างได้ เช่นปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว จึงขอให้ผู้ปกครองนึกถึงโรคฉี่หนูไว้ด้วย และควรพาไปพบแพทย์ ในปีนี้พบเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบป่วยเป็นโรคฉี่หนูแล้ว 15 ราย ไม่มีเสียชีวิต
ด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคฉี่หนู ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน หัวใจสำคัญของการป้องกันโรคมี 3 ประการ คือการลดโอกาสสัมผัสเชื้อที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำขัง ลดพื้นที่ที่เป็นแหล่งน้ำขัง และลดจำนวนสัตว์ที่เป็นตัวการแพร่เชื้อโรคโดยเฉพาะหนู ขอให้ประชาชนใส่รองเท้าบู๊ทเมื่อต้องย่ำน้ำลุยโคลน แหล่งที่มีน้ำขังต่างๆควรปรับพื้นทางเดินให้สูงขึ้นกว่าพื้นปกติ หากอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ควรใช้กระสอบทรายหรือวัสดุอื่นทำเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมและทำเป็นแนวทางเดิน รวมทั้งกำจัดขยะไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประสบภัยหรือเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย หากมีอาการไข้หรืออาการผิดปกติ ควรพบแพทย์และแจ้งประวัติการลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การรักษาอย่างถูกต้อง ขณะนี้มียาปฏิชีวนะรักษาหายขาด ซึ่งโรคนี้สามารถป่วยซ้ำอีกได้
******************************************** 31 กรกฎาคม 2554