กระทรวงสาธารณสุข เร่งกระตุ้นให้แม่หลังคลอดที่มีปีละ 800,000 คน เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน ให้ได้ร้อยละ 30 หรือประมาณ 2 .4 แสนคน ชี้สารอาหารในนมแม่มีผลดีต่อสมองเด็ก กระตุ้นให้สมองพัฒนาเกินกว่าพันธุกรรมที่ได้มาจากพ่อแม่ นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ เป็นวันแม่แห่งชาติ ซึ่งในเดือนสิงหาคมนี้ทุกสัปดาห์แรกของเดือนองค์การพันธมิตรนมแม่โลก(WABA)กำหนดให้มีการรณรงค์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ประชาชนเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวติดต่อกันนาน 6 เดือน เนื่องจากนมแม่ มีสารอาหารครบถ้วน มากกว่า 200 ชนิดและเป็นอาหารที่วิเศษที่สุดสำหรับทารก มีคุณค่าสูงมากต่อสมองของเด็ก และพัฒนาการด้านต่างๆ จากการติดตามอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของหญิงหลังคลอดไทยที่มีปีละประมาณ 8 แสนคน ในช่วง 4 ปีมานี้แม่เพียงร้อยละ 15 หรือประมาณ 120,000 คน ที่ใช้นมแม่เลี้ยงลูกอย่างเดียวติดต่อกัน 6 เดือน ซึ่งยังต่ำกว่าประเทศในแถบเอเชียด้วยกัน นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริมให้หญิงหลังคลอดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ติดต่อกันนาน 6 เดือนให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ในปี 2554 นี้ตั้งเป้าให้ได้ร้อยละ 30 หรือประมาณ 240,000 คน โดยดำเนินการผ่านโครงการโรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัว ดูแลตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงหลังคลอด เด็กอายุ 5 ขวบ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน สร้างความปลอดภัยแม่และเด็ก และเลี้ยงดูลูกอย่างมีคุณภาพด้วยนมแม่ ไม่การจำหน่ายนมผงเลี้ยงเด็ก โดยพยาบาลจะช่วยเหลือแม่หลังคลอด เริ่มให้ลูกดูดนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมง สอนวิธีให้นมลูกที่ถูกต้อง ขณะนี้มีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว 893 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 85 ของโรงพยาบาลทั้งหมด หากดำเนินการได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ มั่นใจว่าเด็กไทยในอนาคตจะมีคุณภาพ มีความฉลาดทั้งด้านสติปัญญา อารมณ์และสังคมซึ่งเป็นการพัฒนาผสมผสานระหว่างพันธุกรรม การเลี้ยงดู และสิ่งแวดล้อมอย่างครบถ้วน ทั้งนี้ ในช่วงขวบปีแรก สมองของเด็กแรกคลอดจะโต เร็วกว่าส่วนต่างๆของร่างกายเกือบ 2 เท่าตัว จากแรกคลอดจะหนักประมาณ 400 กรัม เมื่ออายุ 1 ขวบ น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 กรัม ขณะนี้สมองผู้ใหญ่น้ำหนักประมาณ 1,400 กรัม การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีบทบาทต่อการพัฒนาสมองเด็ก 2 ปัจจัยใหญ่คือ จากสารอาหารต่างๆที่อยู่ในน้ำนมแม่ และจากการที่แม่อยู่กับลูก มีผลงานวิจัยพบว่านมแม่ทำให้สมองลูกพัฒนาได้เกินกว่าพันธุกรรมที่ได้รับจากพ่อแม่ พูดง่ายๆคือ ลูกจะมีไอคิวใกล้เคียงพ่อแม่ หรือสูงกว่า เนื่องจากในน้ำนมแม่มีสารช่วยในการเจริญเติบโตของสมองและประสาทให้ทำงานเต็มที่ และต่อเนื่อง และมีสารต่อสู้เชื้อโรคมาก ซึ่งไม่มีในนมผสม คุณภาพของนมแม่จะมีเต็มเปี่ยมต่อไปถึงหลังคลอด 2-3 ปี นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวอีกว่า หลังจากที่แม่ให้นมลูกไปเรื่อยๆ น้ำนมแม่จะมีปริมาณเพียงพอเหมาะสำหรับลูกในแต่ละวัน หากแม่มีความกังวลว่าน้ำนมไม่เพียงสำหรับลูก คุณแม่สามารถรับคำปรึกษาได้จากมิสนมแม่ หรือผู้เชี่ยวชาญนมแม่ประจำโรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อให้สามารถให้นมลูกได้ครบ 6 เดือน หลังจากนั้น นมแม่มีปริมาณไม่เพียงพอแต่คุณภาพน้ำนมไม่ได้ลดตามไปด้วย สารอาหารยังมีครบถ้วน ขอให้แม่เลี้ยงนมแม่ต่อไปให้ครบ 6 เดือน โดยให้ลูกกินอาหารเสริมตามวัยควบคู่กับนมแม่เมื่อเด็กอายุ 6 เดือน จนลูกอายุครบ 2 ขวบหรือมากกว่า ไม่มีผลเสียต่อเด็ก เด็กที่กินนมแม่จะมีโอกาสเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน น้อยกว่าเด็กที่เลี้ยงด้วยนมผสม หากป่วยก็จะหายป่วยเร็ว ขณะที่ลูกดูดนมแม่ จะกระตุ้นฮอร์โมนที่มีชื่อว่าออกซี่โตซิน ( Oxytocin ) ในตัวแม่ให้สูงขึ้น ฮอร์โมนดังกล่าว จะกระตุ้นให้แม่มีความเป็นแม่ คือเกิดความรู้สึกรัก ฟูมฟักดูแลลูก ลูกจะอบอุ่น ปลอดภัย ไม่มีความเครียด ไม่เห็นแก่ตัว เกิดความใกล้ชิดผูกพัน นำไปสู่การปรึกษาหารือ ไว้วางใจ อบรมสั่งสอนชี้นำลูกได้อย่างใกล้ชิด **************** 12 สิงหาคม 2554


   
   


View 19    12/08/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ