รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมขยายวงกว้าง  ห่วงสุขภาพจิตประชาชน กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกจังหวัด ดูแลจิตใจอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ  พูดคุยให้กำลังใจป้องกันการคิดสั้น ส่วนปลัดกระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนระมัดระวังอย่าให้ลูกหลานเล่นน้ำ โดยเฉพาะจุดที่น้ำไหลเชี่ยวหรืออยู่ใกล้ริมแม่น้ำ ลำคลอง ขณะนี้มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจมน้ำเสียชีวิต 15 ราย  มากสุดที่พิจิตร จำนวน 7 ราย  

วันนี้ (6 กันยายน 2554) ที่ทำเนียบรัฐบาล กทม. นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการลงพื้นที่ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม พบว่าประชาชนเจ็บป่วยด้วยโรคน้ำกัดเท้ามากที่สุด รองลงมาโรคไข้หวัด ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือไข้หวัดใหญ่ ซึ่งในวันนี้ได้นำวัคซีนไข้หวัดใหญ่ มาบริการฉีดให้แก่เจ้าหน้าที่ บุคลากรคณะรัฐมนตรีรวมทั้งสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากมีการรวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่มก้อน หากมีผู้ป่วยจะติดต่อกันได้ง่าย

   

   

นายวิทยา กล่าวต่อว่า เมื่อวานนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายไปดูน้ำท่วมที่คลองตำบลโผงเผง อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ซึ่งขณะนี้พื้นที่ประสบภัยขยายเป็นวงกว้างลงมาถึงภาคกลางแล้ว ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ประสบภัย จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกดูแล รวมทั้งเฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วม โดยเฉพาะประชาชน  4 กลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ผู้พิการหรือผู้ที่ช่วยเหลือตนเองได้น้อย ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงมีครรภ์และเด็ก  หากญาติดูแลไม่ไหวและมีความประสงค์จะไปนอนพักที่โรงพยาบาลหรือในที่ปลอดภัย ก็จะส่งเจ้าหน้าที่ไปรับตัวถึงบ้าน 

          ส่วนการเยียวยาด้านสุขภาพจิตแก่ผู้ประสบภัย  ได้ส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขเข้าไปดูแลพูดคุยให้กำลังใจ ให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษไม่ให้คิดสั้น ขณะนี้ผู้ประสบภัยทุกจังหวัดมีปัญหาสุขภาพจิต มีภาวะซึมเศร้าจำนวนหลายพันราย  เนื่องจากพื้นที่ประสบภัยมีจำนวนมาก บางพื้นที่ท่วมขังเป็นเวลานาน พื้นที่ไร่นา บ้านเรือนเสียหาย  ประกอบอาชีพไม่ได้ หุงหาอาหารไม่ได้  อย่างไรก็ตามขณะนี้หน่วยงานต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ได้เข้าไปดูแลผู้ประสบภัย ทั้งเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพใจ ความเป็นอยู่ และอาหาร

ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า  จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2554-5 กันยายน 2554 ได้รับรายงานมีผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์อุทกภัย  66 ราย  เป็นชาย 53 ราย หญิง 13 ราย   เมื่อวิเคราะห์เชิงลึก ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากจมน้ำ  ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 15 ราย  โดยเสียชีวิตมากที่สุดที่จังหวัดพิจิตร จำนวน  7 ราย  รองลงมาคือที่จ.พังงา 2 ราย  ที่เหลือ 6 รายเสียชีวิตในจ.สุโขทัย ตาก ร้อยเอ็ด พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และนครสวรรค์  จังหวัดละ 1 ราย  ดังนั้นจึงขอฝากให้ประชาชนช่วยกันระมัดระวังบุตรหลาน  หากไม่จำเป็นอย่าลงไปเล่นน้ำ เนื่องจากน้ำท่วมบางจุด บางบริเวณน้ำไหลเชี่ยว  โดยเฉพาะที่อยู่ใกล้แม่น้ำใหญ่ๆ หรือใกล้ลำคลอง ขอให้ระมัดระวังให้มากขึ้น  โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้กำชับให้จังหวัดต่างๆ เน้นย้ำเรื่องปัญหาจมน้ำ  โดยเฉพาะพื้นที่น้ำไหลเชี่ยว ไหลแรง ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ตั้งแต่มีน้ำท่วมเป็นต้นมา  กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 694 ครั้ง มีผู้เจ็บป่วยสะสม 78,778 ราย โรคที่พบมากที่สุดคือโรคน้ำกัดเท้า ส่วนด้านสุขภาพจิต  พบผู้ประสบภัยมีความเครียดสูง 521 ราย ซึมเศร้า 1,316 ราย       เสี่ยงฆ่าตัวตาย 188 ราย และต้องติดตามดูแลเป็นพิเศษ 234 ราย  ได้จัดส่งยาชุดน้ำท่วมไปแล้วกว่า 4 แสนชุด  สำรองไว้ที่ส่วนกลางอีกประมาณ 5 แสนชุด           

                           ***************************     6 กันยายน 2554 



   
   


View 9       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ