สธ. สอบสวนโรคกรณี เด็กนักเรียนระยอง 2 แห่ง ป่วยเป็นอุจจาระร่วงหลังร่วมงานกีฬาสี ส่วนใหญ่อาการป่วยไม่รุนแรง
- สำนักสารนิเทศ
- 741 View
- อ่านต่อ
วันนี้(29 กันยายน 2554)ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทยไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารระดับสูง ประชุมทางไกลร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่กำลังขยายวงกว้างขึ้น ซึ่งนายกยิ่งลักษณ์มีความเป็นห่วง และได้กำชับให้ทุกหน่วยงานติดตามการดำเนินงานแก้ไข คลี่คลายความทุกข์ร้อนของประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมอย่างจริงจัง และให้จังหวัดน้ำท่วมรายงานสถานการณ์ความคืบหน้า
นายวิทยากล่าวว่า การประชุมวันนี้สอดรับกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้มีมาตรการ 2 พี 2 อาร์ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข แพทย์ต้องดูแลประชาชน และให้โรงพยาบาลต่างๆ เตรียมการป้องกันและจัดความพร้อม ทั้งระบบส่งต่อ จุดบริการสำรองนอกโรงพยาบาลเพื่อดูแลประชาชน หากป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาลไม่ได้ เนื่องจากปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้นอีกมาก ส่วนการเตรียมเรือให้บริการประชาชน เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉิน ได้มอบให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติดำเนินการ และให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจัดหาเรือให้พื้นที่ที่จำเป็น ในเบื้องต้นให้ยืมจากหน่วยงานอื่นก่อน หากไม่เพียงพอและจำเป็นให้จัดซื้อ
จากการประชุมทางไกลวันนี้ ได้รับแจ้งจากจ.เชียงใหม่ ที่ถูกน้ำท่วมจากลุ่มแม่น้ำปิงเมื่อคืนนี้ มีโรงพยาบาลเอกชนถูกน้ำท่วม 2 แห่ง และโรงพยาบาลกองทัพบกอีก 1 แห่ง ได้ให้โรงพยาบาลนครพิงค์รับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งประมาณ 54 คน เพื่อให้การดูแลต่อเนื่อง และให้จ.ลำพูนและลำปางที่จะได้รับผลกระทบต่อจากเชียงใหม่ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ตามแผนของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนที่จ.ลพบุรีได้รับรายงานว่าขณะนี้มีจุดอพยพประมาณ 300 จุดใน 3 อำเภอ มีผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรังอยู่ในความดูแลประมาณ 20,000 ราย มีปัญหาเครียด 100 กว่าราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 30 กว่าราย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลถูกน้ำท่วม 29 แห่ง โดย 11 แห่งต้องจัดบริการนอกพื้นที่ ในส่วนของจ.พระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลบ้านแพรก ระดับน้ำท่วมยังทรงตัว ยังให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกและฉุกเฉิน 2 จุด ในโรงพยาบาล และที่ว่าการอำเภอบ้านแพรก ผู้ใช้บริการวันละ 15-20ราย วันนี้ได้ส่งรถสุขาเคลื่อนที่ไปประจำที่โรงพยาบาลบ้านแพรก และจัดทำป้ายบอกทางเดินเข้าโรงพยาบาลให้ชัดเจน ที่จ.สิงห์บุรีจัดเรือเร็ว (สปีดโบ๊ท) 4 ลำ ไว้รับ-ส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน
นายวิทยากล่าวต่อไปว่า ในการดูแลผู้ประสบภัย ซึ่งแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน เน้นย้ำให้ความช่วยเหลือให้เหมาะสมกับพื้นที่ เช่นพื้นที่น้ำลดแล้วต้องเตรียมการฟื้นฟู พื้นที่ที่น้ำขังต้องดูแลเรื่องยุง แมลงวัน และน้ำสะอาด ได้รับข้อมูลว่าขณะนี้ผลกระทบขยายเป็นวงกว้าง คาดว่าน้ำจะท่วมอีกนานประมาณ 2 เดือน โดยเฉพาะจังหวัดลุ่มเจ้าพระยา แนวโน้มน้ำเพิ่มขึ้น วันนี้ได้เร่งรัดดำเนินการ 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.ให้กรมต่างๆ เร่งรัดภารกิจที่รับผิดชอบอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะกรมสุขภาพจิต ให้เร่งจัดยุทธศาสตร์เยียวยาผู้ประสบภัย เนื่องจากประชาชนเครียดจำนวนมาก 2.เรื่องยา ให้ปรับให้ตรงกับความเจ็บป่วยของประชาชน 3.ประสานสสส.จัดทำธงสีเขียวแขวนหน้าบ้าน แจ้งว่ามีผู้สูงอายุ ผู้ป่วยในบ้าน เพื่อเจ้าหน้าที่ อสม. ติดตามดูแลอาการและส่งยารักษาทั่วถึง4.การส่งต่อผู้ป่วยของโรงพยาบาลที่ถูกน้ำท่วมให้ประสานอย่างคล่องตัว ส่งที่อยู่ใกล้ที่สุด โดยเฉพาะบริการสายด่วน 1669 ทราบว่ามีคนใช้บริการร้องขอความช่วยเหลือมากถึง 80 เปอร์เซนต์ และ5.การขอรับการสนับสนุนจากจังหวัด เพื่อให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ขณะนี้ยังไม่พบโรคระบาด แต่ที่เป็นห่วงคือเรื่องการจมน้ำตายที่เกิดจากการไม่ป้องกัน กำชับให้เจ้าหน้าที่ อสม.ที่ออกให้บริการประชาชนให้ใส่ชูชีพทุกคน ******* 29 กันยายน 2554