รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำชับให้โรงพยาบาลทุกจังหวัด รับมือพายุนาลแก และให้ทุกจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ประสบน้ำท่วมวิกฤติ สำรวจเส้นทางการส่งต่อผู้ป่วยหนัก ฉุกเฉินให้คล่องตัว ทั้งทางรถ ทางเฮลิคอปเตอร์ เผยรอบ 2 วันนี้ส่งผู้ป่วยโรคหัวใจทางเฮลิคอปเตอร์แล้ว 3 ราย ที่เชียงใหม่และอุทัยธานี และทุ่มงบ 50 ล้านบาทจัดซื้อเครื่องใช้ 7 รายการ ในการจัดบริการทางการแพทย์ในพื้นที่น้ำท่วม
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ว่า ได้สั่งการให้โรงพยาบาลทุกจังหวัด เตรียมพร้อมรับมือพายุนาลแก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งเรื่องการจัดบริการประชาชนในภาวะเร่งด่วนและการป้องกันน้ำท่วมสถานพยาบาล จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง และให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ประสบภัยวิกฤติ สำรวจเส้นทางในการรับส่งต่อผู้ป่วยหนักหรือฉุกเฉิน ทั้งทางรถ และทางเฮลิคอปเตอร์ โดยขณะนี้ได้ให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำรองเฮลิคอปเตอร์ไว้ 100 ลำ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกองทัพบก เรือ อากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บริษัทการแอร์ และโรงพยาบาลกรุงเทพ โดยในวันที่ 2 และ 3 ตุลาคม 2554 ได้ลำเลียงผู้ป่วยทางเฮลิคอปเตอร์แล้ว 3 ราย เป็นผู้ป่วยบัตรทอง เป็นโรคหัวใจขาดเลือดทั้งหมดจากโรงพยาบาลอมก๋อย จ.เชียงใหม่ ไปส่งที่โรงพยาบาลนครพิงค์ 1 ราย เนื่องจากเส้นทางถูกตัดขาด อีก 2 รายส่งจากโรงพยาบาลอุทัยธานีไปที่โรงพยาบาลปิยะเวช กทม. ทั้ง 3 รายปลอดภัยดี
นายวิทยากล่าวต่อว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมที่กระจายวงกว้างขึ้น และค่อนข้างวิกฤติในภาคกลางซึ่งรองรับน้ำจากภาคเหนือทั้งหมดคาดว่าจะท่วมประมาณ 2 เดือน ในวันนี้ที่ประชุมวอร์รูมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกระทรวงสาธารณสุขได้อนุมัติงบประมาณ 50 ล้านบาทเศษ จัดซื้ออุปกรณ์จำเป็นที่จะใช้ในการให้บริการประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม รวม 7 รายการ ประกอบด้วย 1.เสื้อชูชีพ 2.เครื่องกรองน้ำเพื่อผลิตน้ำดื่มให้ชุมชนที่อยู่ห่างไกล 3.เปลสนาม 4.เตียงสนาม 5.เรือท้องแบนแบบอลูมิเนียมติดเครื่องยนต์ใช้ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เรือท้องแบนแบบโพลียูรีเทนติดเครื่องยนต์ เรือพาย เรือยนต์เร็ว 6.เต้นท์สนามพยาบาลพร้อมอุปกรณ์การแพทย์ ใช้ประจำที่จุดอพยพ และ7.ทรายและถุงทราย เพื่อป้องกันน้ำเข้าโรงพยาบาล โดยจะจัดส่งให้พื้นที่โดยเร็วที่สุด
ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เรื่องที่เป็นห่วงขณะนี้ มีหลายพื้นที่จะมีน้ำท่วมขังนาน อาจทำให้ประชาชนขาดแคลนน้ำสะอาดดื่ม ซึ่งต่อวันจะต้องดื่มคนละ 6-8 ลิตร โดยเฉพาะพื้นที่ที่เข้าถึงยาก อาจได้รับน้ำดื่มบรรจุขวดไม่เพียงพอ กระทรวงสาธารณสุขจะจัดหาเครื่องกรองน้ำดื่มภาคสนาม ติดตั้งที่บ้านของอสม. เพื่อสะดวกแจกจ่ายตามบ้านเรือน โดยจะมีการตรวจคุณภาพความปลอดภัยน้ำด้วย ขณะนี้ได้ให้ทุกจังหวัดสำรวจพื้นที่ในการติดตั้งเป็นการด่วน
สำหรับผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ในวันที่ 3 ตุลาคม 2554 หน่วยแพทย์ประมาณ 100 ทีม พบผู้ป่วย 23,974 ราย ทุกรายอาการไม่รุนแรง ยอดสะสมจนถึงวันนี้มีทั้งหมด 429,242 ราย ร้อยละ 70 เป็นโรคน้ำกัดเท้า ส่วนด้านสุขภาพจิตพบผู้ที่มีความเครียดสูง 1,645 ราย มีภาวะซึมเศร้า 3,459 ราย มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายต้องติดตามเป็นพิเศษ 706 ราย
********************************** 4 ตุลาคม 2554