วันนี้ (2 พฤศจิกายน 2554) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เพื่อติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ว่า ได้พูดคุยเรื่องการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย เน้นในกทม.และจังหวัดที่น้ำเริ่มท่วม เช่น นครปฐม และสมุทรสาคร โดยเฉพาะในศูนย์พักพิงต้องมีบุคลากรสาธารณสุขเข้าไปดูแลประชาชน และมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตระเวนให้การช่วยเหลือชาวบ้านที่เจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง โดยในวันนี้ได้กำชับให้ดูแลให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ในกทม.
นายวิทยากล่าวต่อว่า วันนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งทีมแพทย์เข้าไปดูแลผู้ประสบภัยที่ศูนย์พักพิงร่วมกับกทม. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และที่เขตทวีวัฒนา ได้เปิดศูนย์แพทย์ที่ศูนย์พักพิงที่กทม.จัด 3 จุด โดยมีทีมแพทย์พยาบาลจากส่วนภูมิภาค เช่น ราชบุรี พะเยา มาช่วยปฏิบัติงาน สำหรับโรงพยาบาลในพื้นที่กทม. ได้มีการวางแผนป้องกันไว้แล้ว ซึ่งหากระดับน้ำต่ำกว่า 1 เมตรโรงพยาบาลต่างๆสามารถดูแลรับมือได้ ยืนยันว่าทุกแห่งยังปลอดภัย ไม่มีแห่งใดที่วิกฤต และขณะนี้ได้ทำตามแผนการส่งต่อผู้ป่วยหนักไปยังต่างจังหวัดตามขั้นตอนแล้ว
นายวิทยากล่าวต่อไปว่า สำหรับงบประมาณระยะเร่งด่วนที่กระทรวงสาธารณสุขได้รับจำนวน 109 ล้านบาท เน้นการฟื้นฟูในศูนย์พักพิง และในชุมชน ในด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต อนามัยสิ่งแวดล้อม การป้องกันควบคุมโรค ได้กำชับให้ทุกกรมที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินงานตามภารกิจให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในศูนย์พักพิงจะต้องดูแลเรื่องสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ขยะ อาหารและน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดตามมา ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบการระบาดใดๆ แต่ต้องไม่ประมาทและต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยต้องจัดทีมเข้าไปดูแลทุกศูนย์พักพิงให้การดูแลอย่างใกล้ชิด และทำความเข้าใจกับประชาชนสม่ำเสมอ
“เขตชุมชนเมืองเป็นพื้นที่ที่น่าห่วง เพราะมีคนอยู่กันอย่างหนาแน่น และต้องอยู่กับน้ำขังที่ไม่สามารถระบายออกไปได้ในระยะเวลาอันสั้น อาจจะเกิดปัญหาตามมา เช่นไข้เลือดออกจากยุงลาย โรคฉี่หนู จะต้องป้องกันทุกวิถีทางไม่ให้เกิดโรคขึ้น” นายวิทยากล่าว
ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ระดมหน่วยแพทย์จากต่างจังหวัดจำนวน 59 ทีม เข้ามาปฏิบัติงานช่วยจังหวัดประสบอุทกภัย ได้แก่ กทม. ปทุมธานี นนทบุรี และนครปฐม เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึงที่สุด นอกจากนี้ ขอให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์ หากมีปัญหาใดๆ ขอให้แจ้งมาที่ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม กระทรวงสาธารณสุข เพื่อมอบให้องค์การเภสัชกรรมและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดหาให้ โดยในวันนี้อย.ได้เชิญผู้ผลิตและผู้ประกอบการด้านยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์มาประชุมแล้ว
สำหรับงบประมาณ 109 ล้านบาท ที่ได้รับจัดสรรมีดังนี้ กรมการแพทย์ 8 ล้านบาท กรมอนามัย 8 ล้านบาท กรมสุขภาพจิต 17.5 ล้านบาท กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3.5 ล้านบาท กรมควบคุมโรค 7 ล้านบาท กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 15 ล้านบาท และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 50 ล้านบาท
***************************** 2 พฤศจิกายน 2554