เชื้อราเป็นปัญหาต่อสุขภาพแค่ไหน

- ในระยะหลังน้ำท่วม จะพบเชื้อราขึ้นเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในอาคาร รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ ในครัวเรือน โรงเรียน สำนักงาน และสถานที่ต่างๆ

- การสำรวจเบื้องต้นของกระทรวงสาธารณสุขและหลายหน่วยงาน พบว่า เชื้อราส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เชื้อชนิดที่ก่อโรคในคน แต่เป็นเชื้อชนิดที่มีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นมากกว่าปกติ เพราะความชื้นจากน้ำท่วม

- คนทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรง หากสัมผัสกับเชื้อราเหล่านี้ มักไม่มีปัญหาต่อสุขภาพ ส่วนคนที่อาจมีปัญหาสุขภาพจากเชื้อราได้แก่

o ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ เช่น แพ้อากาศ แพ้ฝุ่น แพ้ละอองเกสร ก็อาจแพ้เชื้อราด้วย หากสูดหายใจเอาละออง (สปอร์) ของเชื้อราเข้าไป โดยอาจเกิดอาการโพรงจมูกอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ ระคายเคืองนัยน์ตา หอบหืด หรือปอดอักเสบจากการแพ้ เป็นต้น

o ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังรับเคมีบำบัด ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่เคยเป็นวัณโรคหรือโรคปอดเรื้อรัง รวมทั้งผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอหรือผู้สูงอายุ อาจติดเชื้อราในปอด ซึ่งบางรายอาจมีอาการรุนแรงได้ แต่ปัญหาเหล่านี้พบไม่มากนัก

· ปัญหาสุขภาพจากเชื้อราจะเกิดมากหรือน้อย ขึ้นกับโอกาสการสัมผัสกับเชื้อรา ดังนั้น จึงต้องทำความสะอาด ทุกอาคารบ้านเรือนรวมทั้งเครื่องใช้ต่างๆ ที่เคยถูกน้ำท่วม และกำจัดเชื้อราออกให้มากที่สุด โดยผู้ที่ทำความสะอาดจะต้องใช้อุปกรณ์ป้องกัน และใช้วิธีทำความสะอาดอย่างถูกต้อง

                  

จะทำความสะอาดและกำจัดเชื้อรา อย่างปลอดภัย อย่างไร

- ผู้ที่ทำความสะอาด ต้องสวมหน้ากากอนามัย และถุงมือยางหรือถุงมือพลาสติกสำหรับทำงานบ้าน ควรสวมรองเท้าบู๊ตหากพื้นยังเปียกหรือมีน้ำขัง และหากหาได้ควรสวมแว่นตาครอบรอบตากันฝุ่นเข้าตา ในขณะทำความสะอาดต้องเปิดประตูหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ ระหว่างทำความสะอาดอาจเปิดพัดลมเพื่อช่วยระบายด้วย

- เนื่องจากเชื้อราเจริญได้ในที่ชื้น ดังนั้นแนวทางหลักในการกำจัดเชื้อรา คือ การล้างหรือเช็ดเอาเชื้อราออกให้มากที่สุด และทำให้แห้ง สำหรับ ผนัง พื้น เครื่องใช้ อุปกรณ์ ควรล้างด้วยน้ำและสบู่ หรือผงซักฟอก หรือน้ำยาล้างจาน เพื่อขจัดสิ่งสกปรกออกให้มากที่สุด พร้อมทั้งเปิดประตู หน้าต่าง เพื่อลดความชื้นและช่วยให้แห้งเร็ว

- ในบริเวณที่มีความชื้นอยู่เสมอ เช่น ห้องน้ำ ฯลฯ อาจล้างด้วยสารที่ช่วยฆ่าเชื้อรา เช่น น้ำยาซักผ้าขาว หรือผงฟอกขาว (ใช้ผงฟอกขาว 1 ส่วน ผสมกับน้ำ 10 ส่วน) ทั้งนี้ต้องสวมอุปกรณ์ ป้องกัน เพราะสาร ดังกล่าว มีพิษระคายเคืองต่อผู้ใช้ได้

- เสื้อผ้าที่จมน้ำควรซักให้สะอาด แล้วลวกน้ำร้อน ภาชนะและอุปกรณ์เกี่ยวกับอาหาร ควรล้างใหม่ให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรือผงซักฟอก หรือ น้ำยาล้างจาน

- สิ่งของที่ล้างแล้วควรทิ้งให้แห้งสนิท หากสามารถผึ่งแดดหรือใช้พัดลมเป่าด้วย ก็จะช่วยให้แห้งเร็วขึ้น

- วัสดุที่มีรูพรุน ซึ่งไม่สามารถชำระล้างได้ทั่วถึงและทำให้แห้งได้ จะกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อรา หากทิ้งได้ก็ควรทิ้ง

- ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ หรือมีร่างกายไม่แข็งแรง ตามที่กล่าวข้างต้น ไม่ควรร่วมในการทำความสะอาด กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการการเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง และยังไม่พบการป่วยรุนแรงจากเชื้อราในระหว่างน้ำท่วมและในระยะน้ำลด

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขจะติดตามเฝ้าระวัง และศึกษาปัญหาสุขภาพจากเชื้อรา เพื่อเป็นฐานความรู้สำหรับการป้องกันและดูแลสุขภาพในระยะต่อไป

*********************************** 9 ธันวาคม 2554



   
   


View 5       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ