วันนี้ (22 ธันวาคม 2554) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนแวนชั่น กทม. นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมเชิงปฎิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีอุทกภัย และมอบใบประกาศเกียรติคุณแก่หน่วยงานและผู้อุทิศตน  ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ปฏิบัติงาน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 500 คน เพื่อนำมาวิเคราะห์ถึงจุดแข็ง จุดด้อย เพื่อทำแผนเตรียมการและพัฒนารูปแบบการดำเนินงานรับมือเหตุสาธารณภัยที่เกิดขึ้นในอนาคต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ ระบุว่าทุกๆ ปี ประชากรกว่า 200 ล้านคนทั่วโลก ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติเช่น น้าท่วม พายุไซโคลน แผ่นดินไหว คลื่นยักษ์  ไฟป่า และภัยธรรมชาติอื่นๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม และสภาวะอากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้ภัยธรรมชาติมีผลกระทบรุนแรงขึ้น และซ้ำเติมความยากจนที่มีอยู่ รัฐต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือและบูรณะฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายดังกล่าว สำหรับประเทศไทยภัยธรรมชาติที่พบทุกปีคือพายุหมุนเขตร้อนและอุทกภัย โดยอุทกภัยพบได้ 2ลักษณะใหญ่ๆคือน้ำท่วมขัง มักเกิดขึ้นในที่ราบลุ่มแม่น้ำและบริเวณชุมชนเมืองใหญ่และน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าจากฝนตกหนักในบริเวณพื้นที่ซึ่งมีความชันมากและกักเก็บน้ำได้น้อยมักเกิดหลังจากฝนตกหนักไม่เกิน6ชั่วโมง และเกิดในบริเวณที่ราบระหว่างหุบเขามีความรุนแรงและรวดเร็วโอกาสป้องกันมีน้อย เกิดความเสียหายมีมากทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
 
โดยเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 นี้ ซึ่งท่วมนาน 3-4 เดือน กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งศูนย์ปฎิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข ตั้งแต่ 25 กรกฏาคม 2554 มีคณะกรรมการและคณะทำงานต่างๆ ทางด้านวิชาการ บริหารจัดการ 10 คณะ ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 9 ข้อ ได้แก่ 1.การป้องกันสถานที่ 2.การสำรองทรัพยากร เวชภัณฑ์ที่จำเป็น 3.การจัดบริการในสถานที่ 4.การจัดบริการนอกสถานที่ 5.การส่งต่อ/เคลื่อนที่ผู้ป่วย 6.การเตรียมเส้นทางหลัก/สำรองในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย 7.เตรียมยานพาหนะ รถยนต์/รถยกสูง เรือ เฮลิคอปเตอร์ และสถานที่รองรับ 8.จัดตั้งศูนย์อพยพ/ศูนย์ช่วยเหลือ 9.การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยเสริมทีมแพทย์จากต่างจังหวัดที่น้ำไม่ท่วม
 
ผลสรุปในด้านการจัดบริการทางการแพทย์ในพื้นที่น้ำท่วมทั้งหมด 65จังหวัด ในภาพรวมได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ได้ออกบริการกว่า 10,000 ครั้ง พบผู้เจ็บป่วย2 ล้านกว่าราย มีผู้ประสบภัยที่มีอาการเครียดเสี่ยงฆ่าตัวตายเกือบ 2 หมื่นราย ไม่พบการระบาดของโรคติดต่อที่สำคัญ เช่น โรคไข้ฉี่หนู โรคไข้เลือดออกโรคอุจจาระร่วง ตาแดง ส่วนด้านการฟื้นฟูพื้นที่และการเยียวยา ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่และเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ให้มีความปลอดภัย กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ และ อสม.ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการทั้งในโรงพยาบาล พื้นที่สาธารณะ ตลาดสด ดูแลระบบการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ความสะอาดอาหารและน้ำ รวมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตผู้ประสบภัยโดยจะนำผลสรุปการประชุมครั้งนี้ ไปปรับปรุงระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ หากเกิดสถานการณ์อุทกภัยหรือภัยอื่นๆในอนาคต
 
 
                        ***************************** 22 ธันวาคม 2554


   
   


View 8       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ