สาธารณสุข เผยผลการตรวจจับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันที่ 29- 31 ธ.ค. 2554 พบผู้กระทำผิดและดำเนินคดีแล้ว 32 ราย เฉพาะวันที่ 31 ธ.ค.พบผู้กระทำผิด 17 ราย มากที่สุดคือที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 ราย ส่วนใหญ่ผิดข้อหามีการโฆษณาส่งเสริมการขาย มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับรายวันอีกวันละ 5 หมื่นบาทจนกว่าจะเลิกโฆษณา นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการออกตรวจจับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ. 2551 ว่า ผลการออกตรวจจับของเจ้าหน้าที่ที่ออกปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันที่ 31 ธันวาคม 2554 ตรวจทั้งหมด 55 ราย พบผู้กระทำผิดและดำเนินคดี 17 ราย ประกอบด้วยสายเหนือได้ตรวจที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 15 ราย พบกระทำผิด 3 ราย โดยผิดในมาตรา 27 คือขายเหล้าในร้านขายยา 1 ราย และกระทำผิดตามมาตรา 32 การโฆษณาเพื่อส่งเสริมการขายจำนวน 2 ราย นายแพทย์สมานกล่าวต่อว่า สายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตรวจที่อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 18 ราย พบกระทำผิด 13 ราย ดำเนินคดี 17 เรื่อง ดังนี้คือผิดในตามมาตรา 27 ขายในปั้มน้ำมัน 1 ราย ผิดในมาตรา 32 มีการโฆษณาเพื่อส่งเสริมการขาย 8 ราย และการกระทำผิดโดยขายนอกเวลาที่กฎหมายกำหนดตามประกาศคณะปฏิวัติที่ 253 จำนวน 3 ราย และการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 โดยขายหรือนำสุราออกแสดงเพื่อขายโดยไม่มีใบอนุญาต 5 ราย บางรายทำผิดหลายฐานความผิด ส่วนสายใต้ ตรวจที่จังหวัดชุมพร ตรวจทั้งหมด 22 ราย พบผู้กระทำผิด 1ราย ดำเนินคดี 2 กระทงคือ การขายด้วยวิธีการต้องห้ามโดยมีการจัดโปรโมชั่นตามมาตรา 30 และการโฆษณาเพื่อส่งเสริมการขายตามมาตรา 32 ผลรวมการตรวจจับ 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 -31 ธันวาคม 2554 ตรวจทั้งหมด 141 ราย พบผู้กระทำผิดและดำเนินคดี 32 ราย ประกอบด้วยภาคเหนือ ตรวจรวม 42 ราย พบผู้กระทำผิด 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 10 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตรวจ 44 ราย กระทำผิด 21 ราย คิดเป็นร้อยละ 48 และภาคใต้ ตรวจ 55 ราย กระทำผิด 7 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ส่วนใหญ่กระทำผิดในเรื่องการโฆษณาส่งเสริมการขาย สำหรับอัตราโทษตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 มาตรา 27 กับมาตรา 30 มีโทษสูงสุด คือ จำคุก 6 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผิดในมาตรา 32 มีโทษสูงสุด จำคุก 1 ปี ปรับ 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับรายวันอีกวันละ 5 หมื่นบาทจนกว่าจะเลิกโฆษณา หากขายหรือนำสุราออกแสดงเพื่อขายโดยไม่มีใบอนุญาต ตาม พ.ร.บ.สุรา 2493 มีโทษปรับสูงสุด 2 พันบาท และตาม ปว. 253 ขายนอกเวลาที่อนุญาต มีโทษสูงสุด จำคุก 2 ปี ปรับ 4 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นายแพทย์สมาน กล่าวอีกว่า คดีที่น่าสนใจ คือ การดำเนินคดีกับผู้จัดงานคอนเสิร์ตเข็นร็อคขึ้นภูเขาที่อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ พบมีการฝ่าฝืนกฎหมายทั้งสองฉบับ คือพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และพ.ร.บ. สุรา พ.ศ. 2493 มีการขายเบียร์ยี่ห้อหนึ่งโดยไม่ได้ขออนุญาตตาม พ.ร.บ.สุรา และมีการโฆษณาเพื่อส่งเสริมการขายที่ขัดพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ทั้งบนเวทีและด้านล่าง ทั้งๆที่มีพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายและเจ้าหน้าที่ตำรวจมากมายในงาน ********************************** 1 มกราคม 2555


   
   


View 13    01/01/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ