กระทรวงสาธารณสุข เผยการปฐมพยาบาลช่วยชีวิตคนที่จมน้ำโดยวิธีแบกพาดบ่าแล้วเขย่า เพื่อเอาน้ำออก เป็นวิธีการที่ผิด เพราะน้ำที่ออกมาเป็นน้ำออกจากกระเพาะอาหารที่สำลักเข้าไป ไม่ใช่น้ำออกจากปอด วิธีการช่วยที่ถูกต้องคือต้องเป่าปาก ช่วยหายใจให้เร็วที่สุด และรีบส่งโรงพยาบาลหรือโทรแจ้งหน่วยแพทย์กู้ชีพ 1669  

จากกรณีที่มีเด็ก 4 คนที่หมู่บ้านห้วยเหนือ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ จมน้ำเสียชีวิตพร้อมกันขณะลงเล่นน้ำที่สระน้ำลึก 2-3 เมตร อยู่ใกล้หมู่บ้าน เหตุเกิดช่วงเย็นวันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม 2555 ที่ผ่านมานั้น  
วันนี้(30 มกราคม 2555)นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาเด็กจมน้ำพบได้ทุกปี กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญในการป้องกันปัญหาดังกล่าวโดยมอบหมายให้กรมควบคุมโรคจัดอบรมความปลอดภัยทางน้ำ สอนวิธีการให้เด็กไทยอายุตั้งแต่ 5 -14 ปี ว่ายน้ำให้เป็น เพื่อเอาชีวิตรอดได้หากตกน้ำหรือจมน้ำ ซึ่งเป็นการให้วัคซีนชนิดพิเศษต่างจากวัคซีนอื่น เนื่องจากต้องได้จากการฝึกสอนทักษะเท่านั้น โดยเริ่มตั้งแต่พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา ขณะนี้ได้ฝึกอบรมครูสอนไปแล้ว 891 คนทั่วประเทศ ในปี 2555 นี้ตั้งเป้าอบรมครูเพิ่มอีก 200 คน ครู 1 คนจะไปสอนเด็กในพื้นที่ให้ได้ร้อยละ 20 ต่อปี คาดจะขยายผลสอนเด็กไม่ต่ำกว่า 20,000 คน และจะอบรมหน่วยงานในท้องถิ่นเพื่อเป็นเครือข่ายป้องกันเด็กจมน้ำในพื้นที่เพิ่มอีก 20 หน่วย ซึ่งที่ผ่านมามีแล้ว 141 แห่ง นอกจากนี้ยังกำหนดให้วันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปีเป็นวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ และได้ร่วมกับศูนย์วิจัยเสริมสร้างความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็กของโรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ความรู้แพทย์ประจำบ้าน ในการป้องกันเด็กจมน้ำด้วย 
ทั้งนี้ สถานการณ์เด็กจมน้ำทั่วประเทศ หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขจัดอบรมป้องกันตั้งแต่พ.ศ. 2552 เป็นต้นมาพบว่าได้ผล จำนวนเด็กจมน้ำเสียชีวิตมีแนวโน้มลดลง โดยล่าสุดในปี 2553 มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตทั้งหมด 1,138 ราย ซึ่งลดลงจากในปี 2551 ที่มีรายงาน 1,229 ราย  
ทางด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า การจมน้ำจัดเป็นกรณีวิกฤติฉุกเฉิน การปฐมพยาบาลคนจมน้ำ จะต้องเน้นการกระตุ้นให้หายใจเร็วที่สุด โดยการเป่าปากและนวดหัวใจ การช่วยคนจมน้ำโดยวิธีแบกพาดบ่าแล้ววิ่ง หรือเขย่า เป็นวิธีช่วยที่ผิด ไม่ได้ช่วยชีวิตผู้จมน้ำ เพราะน้ำที่ออกมาจากปากของผู้จมน้ำ เป็นน้ำที่ออกจากกระเพาะอาหารที่สำลักเข้าไป ไม่ใช่น้ำที่ออกมาจากปอดเหมือนที่เข้าใจกัน 

นายแพทย์พรเทพกล่าวว่า การช่วยเหลือคนจมน้ำก่อนส่งโรงพยาบาลมีดังนี้ 1.ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้เป่าปากช่วยหายใจทันที อย่าเสียเวลาพยายามเอาน้ำออกจากปอดหรือผายปอดด้วยวิธีอื่น เพราะจะไม่ทันการณ์และไม่ได้ผล ถ้าเป็นไปได้ควรลงมือเป่าปากตั้งแต่ก่อนขึ้นฝั่ง เช่น พาขึ้นบนเรือ หรือพาเข้าที่ตื้นๆ2.หากคลำชีพจรไม่ได้ หรือหัวใจหยุดเต้น ให้นวดหัวใจทันที 3.ถ้าผู้ป่วยยังหายใจได้เอง หรือช่วยเหลือจนหายใจได้แล้ว ควรจับผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง ศีรษะหงายไปข้างหลังเพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก ใช้ผ้าห่มคลุมผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความอบอุ่น อย่าให้กินอาหารและดื่มน้ำทางปาก และส่งผู้ที่จมน้ำไม่ว่าจะมีอาการหนักเบาเพียงใดไปโรงพยาบาลทุกราย ในรายที่หมดสติและหยุดหายใจ ต้องผายปอดด้วยวิธีเป่าปากไปตลอดทาง อย่ารู้สึกหมดหวังแล้วหยุดให้การช่วยเหลือ โดยสามารถขอความช่วยเหลือด้านการแพทย์ได้ที่สายด่วน 1669 หรือติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422       

********************************     30 มกราคม 2555



   
   


View 12    30/01/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ