รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะทำงานป้องกัน ปราบปราม ฟื้นฟูและเยียวยาด้านยาเสพติด กำชับให้เจ้าหน้าที่อย. และเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามการนำเข้าสารตั้งต้นผลิตยาบ้าในตระกูลซูอีเฟดรีน อย่างจริงจัง เข้มงวด ทั้งชายแดนและร้านขายยา เพื่อตัดวงจรการผลิตยาบ้า และให้อสม.ตำรวจติดตามผู้เสพหลังผ่านการบำบัดแล้ว 60,000 คน ป้องกันการหันกลับมาเสพซ้ำหรือเป็นผู้ค้ายา   

วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2555) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา  บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมคณะทำงานป้องกันปราบปราม ฟื้นฟูและเยียวยาด้านยาเสพติด ซึ่งมีนายพสิษฐ์  ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ว่า คณะทำงานชุดนี้ ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ทหาร ตำรวจ รวม  23 คน และมีคณะที่ปรึกษาอีก 7 คน มีพลตำรวจตรีคำรณวิทย์  ธูปกระจ่าง รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจภาค 1 เป็นประธานที่ปรึกษา จะเน้นในเชิงการป้องกันปัญหายาเสพติดตามนโยบายนายกรัฐมนตรี โดยกระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่ดูแลในเรื่องการปราบปรามสารตั้งต้นในตระกูลซูโดอีเฟดรีน ที่นำไปสู่การนำมาผลิตยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า เนื่องจากมีการนำยาแก้หวัดสูตรผสมที่มีซูโดอีเฟดรีนไปใช้ผลิตยาบ้า เพราะใน 1 เม็ดของยาแก้หวัดนำไปทำยาบ้าได้ 2 เม็ดเพิ่มมูลค่าจากต้นทุน 1 บาท เป็น 300 บาท จึงต้องเข้มข้นในการควบคุมเรื่องนี้ โดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการปราบปรามผู้กระทำผิดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 40 ประกาศเมื่อ 16 กันยายน 2554 ที่ให้ยาสูตรผสมที่มีซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) เป็นส่วนประกอบ ทั้งยาเม็ด แคปซูลและยาน้ำ เป็นยาควบคุมพิเศษ ห้ามขายในร้านขายยาทั่วไป ขายได้เฉพาะสถานพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาลเอกชนที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน ซึ่งจำกัดจำนวนไม่เกิน 5,000 เม็ดต่อเดือน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2554 เป็นต้นมา 

นายวิทยากล่าวว่าในวันนี้ ได้กำชับคณะทำงาน 2 เรื่องใหญ่ คือ 1. การปราบปรามสารตั้งต้น  ให้เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ  ดำเนินการปราบปรามอย่างเข้มข้น ทั้งการนำเข้าส่งออกตามแนวตะเข็บชายแดน โดยเฉพาะในหน้าแล้งจะมีการขนส่งสะดวกกว่าฤดูอื่น และตรวจร้านขายยาในประเทศ  และ 2.การติดตามผลหลังบำบัด รักษาผู้เสพและผู้ติดยาเสพติด โดยในรอบ 5 เดือนแรกปีงบประมาณ 2555 ตั้งแต่เดือนกันยายน มกราคม 2555 ให้การบำบัดและส่งคืนสู่ครอบครัว และสังคมไปแล้ว 64,022 คน หรือประมาณร้อยละ 16 ของเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ในปี 2555 จำนวน 400,000 ราย  ให้เจ้าหน้าที่คืออสม.กับตำรวจ ติดตามผู้ที่ผ่านระบบการบำบัดในชุมชน ว่า มีการกลับมาเสพซ้ำหรือเป็นผู้ค้าอีกหรือไม่ ซึ่งเป็นการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการที่กำหนดให้ผู้ผ่านการบำบัดแล้วไม่กลับไปเสพติดซ้ำ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80     เพื่อสรุปเสนอนายกรัฐมนตรีเป็นรายไตรมาส   

                  ในการลดความรุนแรงปัญหายาเสพติด รัฐบาลตั้งเป้าหมายลดความรุนแรงทุกด้าน ประกอบด้วย 1.ตั้งเป้าลดผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดให้มีไม่เกิน 3 คนต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งขณะนี้ไทยมีอัตราผู้เสพผู้ติด 19 คนต่อประชากร 1,000 คน 2.ตั้งเป้าลดผู้เสพ ผู้ติดรายใหม่ไม่เกินร้อยละ 20 ซึ่งขณะนี้มีประมาณร้อยละ 78 3.จับกุมผู้ผลิต ผู้ค้า และเครือข่ายยาเสพติดไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 4.สกัดกั้นพื้นที่ชายแดนต่อพื้นที่ภายในสัดส่วน 70 ต่อ 30 5.มีหมู่บ้าน ชุมชนเข้มแข็งมากกว่าร้อยละ 80 และ6.มีระบบฐานข้อมูลการเฝ้าระวังร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน

          ทางด้านนายพสิษฐ์  ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะทำงานป้องกันปราบปราม ฟื้นฟูและเยียวยาด้านยาเสพติด กล่าวว่า ปัญหายาเสพติด เป็นวาระแห่งชาติที่ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ความสำคัญและมอบหมายให้ร้อยตำรวจเอก ดร.เฉลิม  อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลใกล้ชิด ในการประชุมวันนี้ ได้มีการพิจารณามาตรการ 2 เรื่องคือ 1. การควบคุมตัวยาและสารตั้งต้น เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบการส่งออกและการนำเข้า การตรวจจับและสกัดกั้นตัวยาและสารตั้งต้นบริเวณด่านเข้าประเทศ พบว่าการเปลี่ยนสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดจากอีเฟดรีนมาเป็นซูโดอีเฟดรีนจากยาแก้หวัด ส่งผลเกื้อกูลต่อการเพิ่มปริมาณยาเสพติด ในช่วงปี 2551-2553 จับกุมได้สารตั้งต้นได้ 37 ล้านเม็ด ซึ่งผลิตเป็นยาบ้าได้ 72 ล้านเม็ด ข้อมูลข่าวในปี 2553 มีความต้องการสั่งซื้อซูโดอีเฟดรีนกว่า 500 ล้านเม็ด ในปี 2554 จับได้ 11 ล้านเม็ด และ 2.การพัฒนาคุณภาพการบำบัดรักษา ฟื้นฟูและเยียวยาผู้ป่วยยาเสพติดและการติดตาม ดูแลช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูแล้ว  ซึ่งขณะนี้มีสถานบำบัดทั้งหมดกว่า 10,000 แห่ง  

  โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้มีการจัดทำงบประมาณ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการเร่งรัดให้บรรลุวาระแห่งชาติ และนโยบายรัฐบาลให้เร็วที่สุดและดีที่สุด ให้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขภายใน 5 วัน ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจัดทำรายงานการปราบปราม ตรวจสอบร้ายขายยาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง  และให้ตำรวจดำเนินการตรวจจับ ตรวจค้นแหล่งที่มีเบาะแสอย่างเข้มข้น และมอบหมายให้กรมสุขภาพจิตพัฒนามาตรฐานการบำบัด โดยให้เพิ่มการตรวจคัดกรองด้านสุขภาพจิตด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มที่สมัครใจเข้าบำบัด เพื่อจัดระบบการบำบัดได้สอดคล้อง เหมาะสมกับระดับความรุนแรงของเสพติดยา  

       ***************************     1 กุมภาพันธ์ 2555

 

 



   
   


View 10    02/02/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ