รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งดำเนินทางวินัยขั้นร้ายแรง และโทษอาญา เภสัชกรประจำห้องยา โรงพยาบาลอุดรธานี หลังเจ้าหน้าที่ตรวจพบมีการปลอมแปลงหลักฐานจ่ายยาแก้หวัดที่มีสูตรซูโดอีเฟรดีนเป็นส่วนประกอบ ซึ่งเป็นยาควบคุมพิเศษ ส่งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจำนวน 65,000 เม็ด เผยเป็นกรณีตัวอย่าง สั่งขยายผลตรวจสอบโรงพยาบาลในสังกัด และโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง เข้มงวดควบคุมตรวจสอบยาชนิดนี้อย่างเคร่งครัด หากพบกระทำผิดจะดำเนินการขั้นเฉียบขาด พร้อมให้อย.เพิ่มบทลงโทษรุนแรงขึ้นกว่าเดิมจำคุก 5 – 20 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000 – 400,000 บาท

          นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับรายงานจากนายแพทย์พิชาติ ดลเฉลิมยุทธนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานีว่าคณะกรรมการควบคุมยาของโรงพยาบาลอุดรธานีได้ตรวจพบว่ามีการลักลอบนายำแก้หวัดที่มีสูตรซูโดอีเฟรดีน(Psudoephedrine)เป็นส่วนประกอบ ซึ่งเป็นยาควบคุมพิเศษตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ป้องกันการนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด ซึ่งยาชนิดนี้อนุญาตให้ใช้ในโรงพยาบาลสังกัดรัฐและเอกชน ไม่อนุญาตให้จำหน่ายในร้านขายยาทั่วไปและคลินิก โดยเภสัชกรรายนี้เป็นชาย อายุ 40 ปี  ตำแหน่งเภสัชกรชำนาญการ ได้ลักลอบนำออกจากโรงพยาบาลจำนวน 130 ขวด ขวดละ 500 เม็ด รวม 65,000 เม็ด โดยจัดทำหลักฐานเท็จว่าตัดจ่ายไปให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในจังหวัดอุดรธานี การกระทำผิดรายนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกและเป็นกรณีตัวอย่างข้าราชการที่มีหน้าที่ดูแลด้านยาโดยตรง ไม่สนองวาระแห่งชาติของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขในการแก้ไขปัญหายาเสพติด 
          นายวิทยากล่าวว่า ได้สั่งการให้ดำเนินคดี ข้าราชการรายดังกล่าว 2 กระทง ได้แก่ 1.ทางวินัยขั้นร้ายแรง โดยตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทางวินัย 1 ชุด ให้รายงานผลภายใน 24 ชั่วโมง 2.ดำเนินคดีทางอาญา ซึ่งเป็นหน้าที่ของตำรวจ และสั่งการขยายผล ให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกแห่ง ทั้งรัฐและเอกชน ตรวจสอบควบคุมการจ่ายยาชนิดนี้อย่างเคร่งครัด หากพบกระทำผิดให้ดำเนินการคดีโดยไม่มีการละเว้น 
          นายวิทยากล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ยกระดับการควบคุมยาแก้หวัดสูตรผสมที่มีซูโดอีเฟรดีนเป็นส่วนประกอบให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทที่ 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ห้ามขายในร้านขายยา หากมีการฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษที่รุนแรงขึ้น ทั้งนี้เมื่อโรงพยาบาลซื้อยาดังกล่าวไปจะต้องทำรายงานส่งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทุกเดือน และส่งรายงานสรุปยอดประจำปี โดยในการจ่ายยาให้คนป่วยทุกครั้ง จะต้องแสดงรายละเอียดในประวัติผู้ป่วย จำนวนการสั่งจ่ายยา และยอดการซื้อของโรงพยาบาล ยอดเหลือยาคงคลัง ต้องตรงกันทั้งหมด หากมีการรั่วไหลหรือมีหลักฐานว่ามีการนำไปขาย จะมีอัตราโทษสูงกว่าเดิม คือจำคุก 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 – 400,000บาท ซึ่งโทษเดิมถ้าเป็นยา จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 30,000 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งมีโทษทางวินัย อีกทั้งหากสามารถสืบได้ว่าเกี่ยวพันกับการนำไปผลิตยาเสพติดก็จะส่งให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)ดำเนินการยึดทรัพย์ด้วย                  
          ทางด้านนายแพทย์พิชาติ ดลเฉลิมยุทธนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานี กล่าวว่า โรงพยาบาลอุดรธานี เป็นโรงพยาบาลศูนย์กลางของจังหวัด ในการกระจายยาไปให้โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยมีคณะกรรมการควบคุมยา และมีกระบวนการตรวจสอบภายในทุก 3 เดือน ในกรณีนี้ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบวินัย 1 ชุดประกอบด้วยเภสัชกรของโรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี และนิติกร และระหว่างตรวจสอบ ได้สั่งย้ายเภสัชกรที่กระทำผิดไปช่วยราชการที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานีเป็นการชั่วคราวภายใน 24 ชั่วโมงแล้ว โดยจะทราบผลตรวจภายในวันนี้  
    **********************       24 กุมภาพันธ์ 2555


   
   


View 12    24/02/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ