กระทรวงสาธารณสุข เผยพบเด็กทารกเสียชีวิตภายใน 28 วันหลังเกิดปีละกว่า 3,000 ราย ส่วนใหญ่จากปัญหาน้ำหนักตัวน้อย คลอดก่อนกำหนด เร่งลดตาย โดยพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์ 9 แห่งในต่างจังหวัด เป็นศูนย์เชี่ยวชาญดูแลรักษาทารกแรกเกิด มีอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือผ่าตัด เครื่องช่วยหายใจสำหรับเด็กโดยเฉพาะ วันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2555) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดตึกผู้ป่วยเด็กและผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ ที่โรงพยาบาลสีคิ้ว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นอาคารผู้ป่วย รวมทั้งเครื่องมือแพทย์ ที่ได้รับบริจาคจากประชาชน รวมมูลค่า 16 ล้านบาท นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข เร่งแก้ไขปัญหาการเสียชีวิตของเด็กทารกแรกเกิด โดยพบเด็กทารกเสียชีวิตภายใน 28 วันหลังคลอดปีละกว่า 3,000 ราย หรือพบได้เฉลี่ย 4.1 คนต่อทารกแรกเกิด 1,000 คน อัตราตายสูงสุดที่ภาคใต้ 4.7 คนต่อทารกแรกเกิด 1,000 คน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากเด็กมีน้ำหนักตัวน้อย คลอดก่อนกำหนด ซึ่งการดูแลเด็กเหล่านี้จะต้องใช้บุคลากรผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์เป็นการเฉพาะ เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที โดยที่ผ่านมา ศูนย์เชี่ยวชาญด้านเด็กส่วนใหญ่ จะอยู่ในโรงเรียนแพทย์ใน กทม. และจังหวัดใหญ่ๆ ซึ่งมีข้อจำกัดในการเข้าถึง ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายเร่งพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ในภูมิภาค ให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด (New Born Center) มีบุคลากรเชี่ยวชาญดูแลรักษาทั้งแพทย์ พยาบาล และเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ครบครัน นายวิทยา กล่าวว่า ตามแผนการพัฒนาโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้มีขีดความสามารถในการดูแลรักษาอาการเจ็บป่วย ลดการเสียชีวิตประชาชน กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายจะกระจายบริการดังกล่าวให้ประชาชนในต่างจังหวัดได้รับบริการที่อยู่ใกล้บ้านที่สุด ไม่ต้องเดินทางไปรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ไกลๆ โดยพัฒนาให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญระดับสูง 4 สาขาหลัก ได้แก่ สาขาโรคมะเร็ง สาขาอุบัติเหตุ สาขาโรคหัวใจและหลอดเลือด และสาขาทารกแรกเกิด นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามแผนการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศด้านทารกแรกเกิดนั้น ได้แบ่งเป็น 3 ระดับบริการเป็นเครือข่ายในภูมิภาค เป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยจากจังหวัดต่างๆ โดยระดับ 1 จะต้องมีศักยภาพสามารถผ่าตัดหัวใจ สมองเด็กแรกเกิด ที่มีอาการผิดปกติได้ มีทั้งหมด 9 แห่ง ภาคเหนือที่ รพ.ลำปาง และ รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก ภาคกลางที่ รพ.สระบุรี รพ.ราชบุรี ภาคตะวันออกที่ รพ.ชลบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ รพ.มหาราช จ.นครราชสีมา และ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ภาคใต้ที่ รพ.สุราษฎร์ธานี และ รพ.หาดใหญ่ ซึ่งโรงพยาบาลดังกล่าวเป็นศูนย์ผลิตแพทย์ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อยู่แล้ว ระดับ 2 สามารถผ่าตัดทั่วไปได้ยกเว้นผ่าตัดหัวใจและสมอง และสามารถดูแลรักษาเด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนัก ตัวน้อยหรือคลอดก่อนกำหนดได้ มี 18 แห่งครอบคลุมทุกภาค ภาคละประมาณ 3 แห่ง และระดับ 3 มีขีดความ สามารถให้การรักษาเด็กแรกเกิดที่มีปัญหาการหายใจล้มเหลว และต้องการเครื่องช่วยหายใจชนิดความถี่สูงเฉพาะเด็กแรกเกิด มีแพทย์เฉพาะทางและพยาบาลที่มีประสบการณ์ความชำนาญการด้านการดูแลรักษาเด็กแรกเกิด มีจักษุแพทย์สามารถตรวจจอประสาทตาเด็กแรกเกิดที่มีปัญหา มีทั้งหมด 86 แห่ง ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายดำเนินการให้เปิดดำเนินการได้ร้อยละ 50 ของเป้าหมายภายในปี 2557 ********************** 25 กุมภาพันธ์ 2555


   
   


View 16    25/02/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ