วันนี้(27 กุมภาพันธ์ 2555) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย สืบสานพระราชปณิธานต่อจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในการให้ความช่วยเหลืออนุเคราะห์ผู้ป่วยโรคไตที่ยากจนและด้อยโอกาส ให้พ้นทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บ มีชีวิตยืนยาวต่อไปด้วยการรักษาที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ
กระทรวงสาธารณสุข สนองพระดำริของพระองค์ท่าน จัดตั้งศูนย์รับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะทุกอวัยวะได้แก่ ตับ ไต ปอด หัวใจ ดวงตา ในระดับภูมิภาคขึ้นใน 4 ภาค จำนวน 5 แห่ง ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก และโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีเพื่อให้ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคเข้าถึงบริการได้สะดวกรวดเร็ว จากเดิมทำได้เฉพาะโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครและโรงเรียนแพทย์เท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยที่อยู่ต่างจังหวัดขาดโอกาสได้รับบริการ เฉพาะผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง มีขึ้นทะเบียนรอคิวผ่าตัดเปลี่ยนไตประมาณเกือบ 3,000 คนทั่วประเทศ
นายวิทยา กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยป่วยจากโรคเรื้อรังมากขึ้น ที่สำคัญ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ต้องได้รับการล้างไต เพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย ค่าใช้จ่ายสูงมาก จากสถิติสาธารณสุขปี 2553 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคไตวายจำนวน 386,102 ราย ในจำนวนเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายประมาณ 30,000 กว่าราย และพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มปีละ 400 ราย ดังนั้น ต้องเร่งรณรงค์ให้ประชาชนป้องกันตนเองไม่ให้เป็นโรค โดยการออกกำลังกาย ลดการกินอาหารรสเค็มจัด หวานจัด ส่วนผู้ที่ป่วยหรือมีอาการแล้ว ต้องพบแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างใกล้ชิด
การรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมี 3 วิธีคือ 1.การล้างไตทางช่องท้อง วิธีนี้ผู้ป่วยจะได้รับการฝึกสอนจากแพทย์และพยาบาล จนสามารถกลับไปทำได้เองที่บ้าน 2.การฟอกเลือด เป็นวิธีที่นิยมกันมากผู้ป่วยจะได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง และ3.การปลูกถ่ายไต เป็นวิธีการรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบัน ผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงปกติ ซึ่งจำเป็นต้องมีการบริจาคอวัยวะในการปลูกถ่าย ข้อมูลจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ระบุว่า มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไตตั้งแต่เริ่มมีการผ่าตัดในประเทศไทยจนถึง 31 ธันวาคม 2553 จำนวน 4,864 ราย เฉลี่ยปีละ 200-300 ราย ซึ่งควรจะมีปีละประมาณ 1,000 รายต่อปี เนื่องจากขาดแคลนอวัยวะบริจาค โดยในปี 2554 มีจำนวนผู้บริจาคอวัยวะ 113 ราย และมีผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ 276 ราย
ในปีนี้วันไตโลก (World Kidney Day)ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2555 คำขวัญวันไตโลกปีนี้ “บริจาคไต ให้ชีวิตใหม่ 2 ชีวิต” กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งร่วมจัดสัปดาห์กิจกรรมวันไตโลกและเชิญชวนรณรงค์ร่วมบริจาคอวัยวะนอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบการบริจาคอวัยวะและการปลูกถ่ายอวัยวะโรงพยาบาลศูนย์ในภูมิภาคทั้ง 4 ภาค เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ป่วยในถิ่นทุรกันดาร ที่ยากจนและด้อยโอกาสได้มีโอกาสเข้าถึงการบริการได้มากที่สุด เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี
**************** 27 กุมภาพันธ์ 2555