วันนี้ (29 กุมภาพันธ์ 2555) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพมหานคร นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (ผอ.รพ.) ทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพในส่วนภูมิภาคให้ประชาชนได้รับริการมีคุณภาพและอยู่ใกล้บ้าน และการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรี      

นายวิทยากล่าวว่า ใน ปี 2555 กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่ต้องเร่งดำเนินการเร่งด่วน 9 เรื่อง ได้แก่ 1.การขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยเฉพาะการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด 2.การขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 16 ข้อ 3.การสร้างเสริมสุขภาพโดยเน้นอาหารเมนูสุขภาพในโรงพยาบาลให้มีมาตรฐานเดียวกัน เช่นอาหารปลอดภัย อาหารเฉพาะโรค อาหารเพื่อสุขภาพในร้านอาหารของโรงพยาบาล จะเริ่มพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่ 1 มีนาคม 2555 4.การจัดช่องทางให้บริการด่วนพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการ 5.การจัดทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพใน 5 ปี 6.การจัดทำแผนบุคลากรและอัตรากำลัง 7.การจัดซื้อจัดจ้างและเบิกจ่ายงบประมาณกรณีฉุกเฉิน 8.การพัฒนาระบบการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ 9.การลดการเหลื่อมล้ำบริการระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพ ได้แก่ โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ โดยจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมจ่ายกรณีใช้บริการนอกเหนือสิทธิหลัก กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถใช้บริการได้ที่ใดก็ได้ โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง      
นายวิทยากล่าวต่อว่า สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นวาระชาติเร่งด่วน ได้จัดทำโครงการลดผู้เสพ ผู้ติดยาเชิงรุก ซึ่งจัดเป็นผู้ป่วยต้องได้รับการบำบัดตามกฎหมายยาเสพติด โดยเน้นระบบสมัครใจเป็นหลัก ขณะนี้ทั่วประเทศมีศูนย์บำบัดฟื้นฟูผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดรองรับยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดทั้งหมด 1,955 แห่ง เพื่อลดจำนวนผู้ใช้ยาลงให้มากที่สุด ส่วนการป้องกันกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ทั้งในและนอกสถานศึกษา มีการรณรงค์ในโครงการทูบีนัมเบอร์วัน และการควบคุมสารตั้งต้น ป้องกันการนำไปผลิตยาเสพติด ซึ่งรวมทั้งยาแก้หวัดสูตรผสมที่มีซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine)ไปใช้ในการผลิตยาเสพติด โดยขณะนี้ได้สั่งการให้ผู้บริหารโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนทุกแห่ง ตรวจสอบการสั่งซื้อ การควบคุมสต็อคยาและยอดการจ่ายให้ผู้ป่วยจริง โดยโรงพยาบาลเอกชนให้จ่ายยาชนิดนี้ไม่เกินเดือนละ 5,000 เม็ด ส่วนคลินิก ร้านขายยา หากตรวจพบมีการลักลอบจำหน่ายจะดำเนินการลงโทษทันที       
          นายวิทยากล่าวต่อไปว่า รายงานจากศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข สรุปผลการบำบัดรักษายาเสพติด 5 เดือน ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2554-9 กุมภาพันธ์ 2555 มีผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติด รวม 112,500 คน จากที่ตั้งเป้าไว้ 400,000 คนในปี 2555 ประกอบด้วยเป็นผู้สมัครใจบำบัด 62,539 คน บังคับบำบัด 44,162 คน ต้องโทษ 5,799 คน ในช่วงเดือนมกราคม 2555 มีผู้เสพยาเสพติดสมัครใจเข้ารับการบำบัดเองสูงกว่าการบังคับบำบัดเกือบ 4 เท่าตัว โดยทุกแห่งให้การบำบัดฟื้นฟูฟรี ด้วยมาตรฐานเดียวกัน
 ***************************** 29 กุมภาพันธ์ 2555


   
   


View 6       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ