วันนี้  (1 มีนาคม 2555)  ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กทม. นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สุวัช เซียศิริวัฒนา รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงข่าว การรณรงค์ คัดกรองทั่วไทย เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ว่า ในวันที่  1 20  มีนาคม  2555  นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะรณรงค์ตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังหรือโรควิถีชีวิตที่คนไทยป่วยกันมาก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และพบในกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้นด้วย ดำเนินการพร้อมกันทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการรณรงค์ครั้งยิ่งใหญ่ในโลก และเป็นการแสดงพลังของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม.ไทยด้วย เพื่อควบคุมป้องกันโรค ค้นหาผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้การดูแลรักษา ลดการเสียชีวิตและลดความพิการ ตามนโยบายรัฐบาล  

ในการรณรงค์ครั้งนี้ จะให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม. 1 ล้านคน ออกตรวจคัดกรองฟรี โดยวัดความดันโลหิตทุกคน และค้นหากลุ่มเสี่ยงเป็นเบาหวาน ในกลุ่มประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปซึ่งทั่วประเทศมี 53.9 ล้านคน โดยจะขึ้นทะเบียนประชาชนที่ตรวจทุกราย  และแบ่งการดูแลออกเป็น  4 กลุ่ม คือกลุ่มที่ปกติ กลุ่มที่ผิดปกติแต่ยังไม่ถึงขั้นป่วย กลุ่มที่ป่วยแล้ว และกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน เพื่อให้การดูแลปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสม มั่นใจว่าจะเป็นวิธีที่ลดจำนวนผู้เจ็บป่วยลงอย่างได้ผล และป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งทั้ง  2 โรคนี้ เมื่อป่วยแล้ว สามารถทำให้เกิดโรคอื่นตามมาได้อีกอย่างน้อย  5 โรค คือโรคหัวใจ อัมพฤกษ์/อัมพาต โรคไตวาย ตาบอด อาจทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย และพิการถูกตัดขา ตั้งเป้าดำเนินการตรวจครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ให้ได้ร้อยละ 90  
 
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โรควิถีชีวิตในประเทศไทยกำลังทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะ  5 โรคสำคัญ ได้แก่ เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และมะเร็ง มีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวปีละ  97,900  คนหรือประมาณ  1 ใน  3  ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดที่มีปีละประมาณ  3  แสนคน เฉลี่ยชั่วโมงละ 11 คน โดย  2 ใน  3  มีอายุน้อยกว่า  60  ปี  และในรอบ  5  ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2549-2553 มีผู้ป่วยจากโรคที่กล่าวมาเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสูงขึ้นเกือบ  2  เท่า และจากการสำรวจสภาวะสุขภาพคนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปเป็นเบาหวานร้อยละ 6.9 หรือประมาณ 3 ล้านคน และเป็นความดันโลหิตสูงร้อยละ 21.4 หรือกว่า 10 ล้านคน รัฐต้องรับภาระค่าใช้จ่าย  2 โรคนี้ปีละ 126,859 ล้านบาท  และเรื่องที่น่าตกใจพบว่าผู้ป่วยเบาหวาน 1 ใน 3 และผู้ป่วยความดันโลหิตสูงร้อยละ 50 ไม่เคยรู้ว่าตัวเองป่วย ซึ่งกลุ่มนี้หากไม่ได้รับการดูแล จะเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้สูง
 
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคดังกล่าว เกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน มัน เค็มมากเกินไป กินผักและผลไม้น้อย ขาดการออกกำลังกาย ความเครียดเรื้อรัง สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ในการควบคุมป้องกันโรค กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย พ.ศ. 25542563 เป็นโครงการ 10 ปี เพื่อปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตคนไทยใหม่ ให้เป็นวิถีชีวิตที่ลดเสี่ยง ลดโรค ลดภาวะแทรกซ้อน ลดพิการ ลดตาย ลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาจาก 5 โรคนี้ และพัฒนาระบบบริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือรพ.สต. ให้การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยเพิ่ม  
                 
 ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดโครงการสนองน้ำพระราชหฤทัยในหลวง ทรงห่วงใยสุขภาพประชาชน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ดำเนินการตั้งแต่พ.ศ. 2552 -2554 เพื่อตรวจคัดกรองโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงในกลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไปที่มีจำนวน 22.2 ล้านคน ผลการตรวจในปี 2554 พบผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่กว่า 300,000 คน คิดเป็นร้อยละ 1 พบผู้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินปกติ เสี่ยงจะป่วยอีก 2.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 11 และพบผู้ป่วยความดันโลหิตสูงรายใหม่กว่า 800,000 คน คิดเป็นร้อยละ 4 และมีผู้ที่เสี่ยงจะเป็นอีกอีก 3.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 1 และพบผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง มีโรคแทรกซ้อนรวม 176,000 คน ได้แก่ ไตเสื่อม 96,000 คน มีปัญหาทางตา 50,000 คน และมีอาการชาที่เท้า เท้าเป็นแผล 30,000 คน ได้ให้สถานบริการให้คำแนะนำติดตามดูแลรักษา ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่ป่วยอย่างต่อเนื่อง 
 
ทั้งนี้ ผลของการรณรงค์ตรวจคัดกรองครั้งใหญ่ของประเทศครั้งนี้ จะทำให้ระบบการดูแลผู้ป่วยทั้ง 2 โรคนี้ของไทยดีขึ้น ประชาชนทุกคนจะได้รับรู้สุขภาพตนเองและหันมาเอาใจใส่ตัวเองมากขึ้น โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่รับผิดชอบแต่ละพื้นที่ จะวิเคราะห์ผลการตรวจและจัดแผนดูแลเป็น 4 กลุ่ม คือกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วย และกลุ่มป่วยที่มีปัญหาแทรกซ้อน โดยกลุ่มที่ปกติ จะเน้นให้คำแนะนำสร้างเสริมสุขภาพตามหลัก 3อ.2ส. ได้แก่ ออกกำลังกาย อาหาร อารมณ์ ไม่ดื่มสุราและไม่สูบบุหรี่ และติดตามตรวจปีละครั้ง กลุ่มเสี่ยงให้รพ.สต.ให้คำปรึกษาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพป้องกันไม่ให้ป่วย ติดตามตรวจเลือดและวัดความดันโลหิตทุก 6 เดือน และส่งเสริมศักยภาพประชาชนให้เป็นหมู่บ้านหรือชุมชนต้นแบบสร้างสุขภาพดี กลุ่มผู้ป่วย ให้จัดระบบในการดูแลปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ตรวจภาวะแทรกซ้อน และบริการรักษาพยาบาลเชื่อมโยงระหว่างรพ.สต. โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลทั่วไป ส่วนกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อน จะส่งพบแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์ เพื่อดูแลรักษา มั่นใจว่ามาตรการนี้ จะลดผู้ป่วยรายใหม่ และผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อนลงได้มาก
 
สำหรับโรคความดันโลหิตสูง มักพบในผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเช่น พ่อแม่ ปูย่าตายาย เป็นโรคอ้วน ผู้ที่มีความเครียด วิตกกังวล โดยจะมีอาการปวดศีรษะ มึนงง โดยมักปวดบริเวณท้ายทอยในตอนเช้า เหนื่อยง่าย เลือดกำเดาออก หากมีความดันโลหิตสูงมากอาจมีการคลื่นไส้อาเจียน ส่วนอาการหลักของโรคเบาหวาน คือหิวบ่อย กระหายน้ำ ปัสสาวะมากและบ่อย ผอมลงโดยหาสาเหตุไม่ได้ หากมีอาการเหล่านี้ต้องพบแพทย์โดยเร็ว
 
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง มักเกิดโรคไตวายเรื้อรังแทรกซ้อนตามมาจากปัญหาของเส้นเลือด และในวันไตโลก (World kidney day) 8 มีนาคมนี้ กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่าย จะร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ “ลดเค็มครึ่งหนึ่ง...คนไทยไตไม่วาย” และ“กินรสจืด ยืดชีวิต” เพื่อให้ความรู้ และสร้างความตระหนักแก่ประชาชนในการป้องกันและชะลอการเสื่อมของไตพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการป้องกันโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคไตวายด้วย
 
****************************  1 มีนาคม 2555


   
   


View 4       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ