นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเปิดโครงการสัมมนา “หนึ่งทศวรรษการประกันคุณภาพยาสามัญ (Generic drugs)” จัดโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่โรงแรมริชมอนด์ อ.เมือง จ.นนทบุรี ซึ่งมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องด้านยาและเวชภัณฑ์จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทั่วประเทศ โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมประมาณ 300 คน  เมื่อเช้าวันนี้(20 สิงหาคม 2555) ว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ที่สั่งใช้ยาสามัญในบัญชียาหลักแห่งชาติ และสร้างความมั่นใจประชาชนผู้บริโภคยาสามัญในบัญชียาหลักฯ หรือยาที่จำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป ซึ่งเป็นการสนองตามมติของคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 19 มิถุนายน 2555 เรื่องมาตรการเกี่ยวกับระบบริหารเวชภัณฑ์ การเบิกจ่าย ค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์   การที่มีมติครม.เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยาในระบบประกันสุขภาพสูงมากประมาณ 2.7 แสนล้านบาทและมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ   กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เสนอมาตรการควบคุมระบบบริหารยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งระบบดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้สั่งใช้ยาสามัญในบัญชียาหลักฯ และประชาชนผู้บริโภคยา การประชุมในวันนี้ ใช้เวลา 2 วัน เชื่อว่าจะได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นจากผู้มีประสบการณ์ต่างๆได้แนะนำแนวทางเพิ่มเติมในการปฏิบัติสนองนโยบายรัฐบาล

          นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวว่า   ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินการประกันคุณภาพยาภายใต้ชื่อ “โครงการสร้างหลักประกันคุณภาพและมาตรฐานบริการด้านยา” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นเวลา 10 ปี   โดยสุ่มตรวจตัวอย่างและเวชภัณฑ์ที่ใช้ในโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งดูในเรื่องของตัวยาสำคัญที่มีอยู่ในยา และปริมาณตัวยาที่มีในแต่ละเม็ด ให้ได้มาตรฐาน เมื่อตรวจสอบและผ่านเกณฑ์มาตรฐานแล้ว จะบรรจุเข้าไปในหนังสือรายชื่อผลิตภัณฑ์ยาคุณภาพและผู้ผลิตหรือกรีนบุ๊ค(Green Book) เพื่อเผยแพร่รายชื่อผลิตภัณฑ์ยาคุณภาพและผู้ผลิต ให้กับหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้ตรวจสอบว่ายาสามัญตัวใดบ้างที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแล้ว ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่เภสัชกรของโรงพยาบาลซึ่งมีหน้าที่จัดซื้อยา และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่ไปใช้บริการในโครงการหลักประสุขภาพถ้วนหน้าว่า ได้รับยาสามัญที่มีประสิทธิภาพ  รวมทั้งกระตุ้นให้ผู้ผลิตยาที่จำหน่ายในประเทศ ให้พัฒนาคุณภาพยาอย่างต่อเนื่อง  ขณะนี้ทำเป็นเล่มที่ 8 แล้ว    
          ทั้งนี้ผลการสุ่มตรวจสอบตัวอย่างในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ายาร้อยละ 90 ได้มาตรฐานสากลที่กำหนด มีร้อยละ 10 ยังไม่ได้มาตรฐานเช่น มีปริมาณตัวยาสำคัญไม่ครบ การละลายตัวยาไม่ดี หรือจำนวนตัวยาไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน   จะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพและปรับปรุงให้ได้มาตรฐานต่อไป
          นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก้าวต่อไปในการดำเนินงานตามโครงการประกันคุณภาพยาสามัญ จะดำเนินการตามนโยบายแห่งชาติด้านยา พ.ศ.2554 และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ.2554 – 2559 เพื่อให้ประชาชนได้รับการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพที่ได้มาตรฐานโดยการประกันคุณภาพความปลอดภัยและประสิทธิผลของยา  การส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล  ส่งเสริมการเข้าถึงยาจำเป็นให้เป็นไปอย่าเสมอภาค ยั่งยืน ทันเหตุการณ์ รวมทั้งการสร้างกลไกการเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพและอุตสาหกรรมยาภายในประเทศ เพื่อให้มีการพัฒนาและสามารถพึ่งตนเองได้
            นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดำเนินการการตรวจวิเคราะห์ยาสามัญจากโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยจะทำการตรวจวิเคราะห์ตามหัวข้อที่กำหนดไว้ในตำรายาสากล เช่น ปริมาณตัวยาสำคัญ การละลายของตัวยา ปริมาณความชื้น ความสม่ำเสมอของปริมาณตัวยาในแต่ละเม็ด รวมทั้งสารสลายตัว(ถ้ามี) เป็นต้น หากผ่านเกณฑ์ทั้ง 3 รุ่นผลิต ในแต่ละตำรับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะนำรายชื่อผลิตภัณฑ์ยานั้นมาเผยแพร่ในหนังสือกรีนบุ๊ค  โดยระบุรายละเอียด คือ ชื่อสามัญทางยา (generic name) ขนาดความแรง ชื่อผู้ผลิต เลขทะเบียนยา ชื่อการค้า(trade name) เพื่อให้โรงพยาบาลต่าง ๆ นำไปใช้เป็นแนวทางในการคัดเลือกและกำหนดคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ยาที่จัดซื้อเข้าโรงพยาบาล
          นอกจากนี้ การเผยแพร่ผลวิเคราะห์ดังกล่าวสามารถกระตุ้นให้ผู้ผลิตมีการพัฒนาคุณภาพยาให้ทัดเทียมมาตรฐานสากลมากขึ้นโดยมีการปรับปรุงทะเบียนตำรับยาในส่วนของการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยตามมาตรฐานสากล ดังนั้นประชาชนที่เข้ารับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาล มั่นใจได้ว่า   ยาสามัญที่ใช้ในการรักษามีการตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐานสากล
***************************************** 20 สิงหาคม 2555


   
   


View 12    20/08/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ