รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดให้การดูแลผู้ป่วยจิตเวชได้ทุกแห่ง และขยายบริการถึงรพ.สต. ให้อสม.ติดตามผู้ป่วยในชุมชนป้องกันปัญหาขาดยา พร้อมร่วมมือกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ติดตามกลุ่มคนเร่ร่อน หากพบมีปัญหาทางจิตส่งบำบัดในโรงพยาบาล

 

วันนี้ (21 สิงหาคม 2555) นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ พร้อมด้วยนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เพื่อติดตามความคืบหน้าการรักษาหญิงชาวเขาเผ่ามูเซอที่มีอาการทางจิตก่อเหตุฆ่าลูกสาว 2 คนที่บ้านในอ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2555 ว่า ขณะนี้ ผู้ป่วยดังกล่าวอยู่ในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะดูแลรักษาให้ดีที่สุด โดยบันทึกผลการรักษาผู้ป่วยเพื่อให้การต่อศาล เป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้ให้การรักษา

 

อย่างไรก็ตาม จะต้องเร่งหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต ได้ให้กรมสุขภาพจิต ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ จัดบริการด้านสุขภาพจิตในโรงพยาบาลทุกระดับ ตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนในทุกอำเภอของประเทศ โดยฝึกอบรมแพทย์ และจัดให้มีคลินิกจิตเวชในโรงพยาบาลชุมชนกว่า 800 แห่ง และขยายเครือข่ายดูแลด้านสุขภาพจิตลงถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือรพ.สต. ที่มี 9,750 แห่ง โดยจัดอบรมพยาบาลให้มีความรู้ด้านจิตเวช ทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ ติดตามดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชทุกคนที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยทุกรายจะมีประวัติการรักษา ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกับญาติใกล้ชิด ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาการขาดยา  เช่นกรณีที่เกิดขึ้นนี้เชื่อว่าสาเหตุหนึ่งเกิดมาจากการขาดยาเป็นเวลานาน จนทำให้อาการกำเริบ

 

นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวต่อว่า ในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการกำเริบอยู่ตามถนนหนทาง ป้ายรถเมล์ สถานที่สาธารณะต่างๆในชุมชน กระทรวงสาธารณสุขจะร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หามาตรการติดตามดูแลกลุ่มคนเร่ร่อนเหล่านี้ หากพบมีปัญหาทางจิตจะส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสังคมต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยจิตเวชประมาณ 600,000 ราย ในจำนวนนี้ 1 ใน 3 เป็นคนเร่ร่อน ทำให้ไม่ได้รับการดูแลรักษา ผู้ป่วยส่วนที่เหลือประมาณครึ่งหนึ่งได้รับการรักษาในโรงพยาบาล อีกครึ่งหนึ่งรักษาหายแล้วหรือได้รับยาไปรักษาต่อที่บ้าน สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติในสังคม ประการสำคัญ ในการดูแลฟื้นฟูสภาพจิตของผู้ป่วย จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากคนในครอบครัวให้การดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการขาดยา

 

 

 

 ****************************  21 สิงหาคม 2555

 



   
   


View 8    21/08/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ