วันนี้ (23 สิงหาคม 2555) ที่ หอประชุมเทศบาลนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการขับเคลื่อนปฏิญญานครสวรรค์ และค้นหานวัตกรรมการบริการสุขภาพภาคปฐมภูมิดีเด่นระดับเขตในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และปาฐกถาพิเศษเรื่อง ทิศทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิของไทย เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนไทย รองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน   

นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 5 จังหวัดที่อยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย กำแพงเพชร ชัยนาท พิจิตร นครสวรรค์และอุทัยธานี ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวร  ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการที่ผลิตบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข    ประกาศปฎิญญานครสวรรค์  เพื่อสร้างความเข้มแข็งระบบบริการสุขภาพขั้นปฐมภูมิในพื้นที่ เมื่อ พ.ศ. 2553 ที่จังหวัดนครสวรรค์  ประกอบด้วย 4ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การสร้างคน สร้างเครือข่าย 2.สร้างบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่จำกัดเขตแดนจังหวัด 3.สร้างพลังจัดการแบบมีส่วนร่วม และ4.สร้างนวัตกรรมการให้บริการสุขภาพ  ซึ่งเป็นการดำเนินตามหลักการสาธารณสุขมูลฐานขององค์การอนามัยโลก ที่มุ่งพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ และเป็นการผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะในระดับหนึ่ง ซึ่งตรงกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเป็นเรื่องที่นำไปเป็นแบบอย่างในที่อื่นๆของประเทศ 
 
 
นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวว่า ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ เป็นบริการด่านแรกที่ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของประชาชนในหมู่บ้านชุมชนทั่วประเทศ ได้แก่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองหรือศสช. และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือรพ.สต. ที่มีประมาณ 10,000แห่ง ครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสภาพและการรักษาพยาบาล ซึ่งหากระบบบริการส่วนนี้มีความเข้มแข็ง จะเป็นที่พึ่งสุขภาพของประชาชนที่อยู่ใกล้บ้าน ใกล้ใจที่สุด ประชาชนไม่ต้องเดินทางไปใช้บริการที่โรงพยาบาลใหญ่ จะสามารถลดความแออัดของโรงพยาบาลได้ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาศักยภาพบริการให้รพ.สต.และศสช. ตรวจรักษาพยาบาลโรคทั่วไป จัดบุคลากร เครื่องมือแพทย์และยา เพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เริ่มที่เบาหวาน และความดันโลหิตสูงก่อน ผู้ป่วยสามารถติดตามการรักษาใกล้บ้าน และจัดระบบการแพทย์ทางไกลระหว่างรพ.สต.กับโรงพยาบาลจังหวัด ผู้ป่วยสามารถพบแพทย์เฉพาะทางได้ ไม่ต้องเดินทางไกล จะทำให้ลดค่าใช้จ่ายประชาชน และป้องกันไม่ให้ประชาชนป่วย   โดยไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม 30 บาทแม้ว่าจะได้รับยาก็ตาม 
 
    นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวต่อไปว่า ที่สำคัญอีกประการในขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 จะเกิดความเปลี่ยนแปลงต่อระบบการให้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทยอย่างมากคาดว่าจะเกิดธุรกิจบริการทางสุขภาพอย่างชัดเจนมี 4ด้าน ได้แก่ 1.การบริการทางไกล เช่น การให้คำปรึกษาผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ (Tele-consultant)2.การรับบริการข้ามพรมแดน เช่นการที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางให้บริการสุขภาพ (Medical Hub)3.การข้ามชาติไปลงทุนบริการในประเทศเพื่อนบ้าน เช่นธุรกิจโรงพยาบาลบริการทางสุขภาพ และอุตสาหกรรมยา 4. การเคลื่อนย้ายแรงงานด้านสุขภาพ เช่น แพทย์เฉพาะด้านพยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ เป็นต้น   ประเทศไทยจึงต้องเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระดับชุมชน ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของระบบการดูแลสุขภาพตนเองของคนไทย สิ่งที่จะสามารถเป็นเกาะป้องกันความเสียหายแก่ภาวะสุขภาพประชาชนและระบบบริการ
 
                                                                ******************************** 23 สิงหาคม 2555


   
   


View 8    23/08/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ