กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ป่าเขา แนวชายแดน ทุรกันดารใน 14 จังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สนองแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ต่อยอดนโยบายรัฐบาล เพิ่มคุณภาพบริการ 30 บาทให้ทั่วถึงถิ่นทุรกันดาร เพิ่มศักยภาพระบบเครื่องมือสื่อสาร ให้คำปรึกษาทางระบบการแพทย์ทางไกล ขยายโอกาสให้ประชาชนได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ มีหมอใกล้บ้านใกล้ใจ และเพิ่มศูนย์สุขภาพชุมชนในพื้นที่ห่างไกลอีกกว่า 200 แห่ง เป็นหน่วยบริการสุขภาพใกล้บ้านที่สุด โดยผลิตพนักงานสาธารณสุขชุมชน หลักสูตร 1 ปี ประจำการปีนี้อีก 109 คน ใช้งบ 5 ล้านบาท
วันนี้ (23 สิงหาคม 2555) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ตามแนวชายแดนที่จังหวัดตาก โดยได้มอบยาตำราหลวง มุ้งชุบสารไพรีทรอยด์ และอุปกรณ์กีฬา จำนวน 300 ชุด ให้โรงเรียนบ้านแม่ระเมิง ต.แม่สอง อ.ท่าสองยาง ซึ่งมีนักเรียนประมาณ 1,000 คน มอบเครื่องวัดความดันโลหิตให้อสม.จำนวน 126 เครื่อง จากนั้นเดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่ระเมิง เพื่อดูระบบบริการประชาชนในพื้นที่ป่าเขาที่อยู่ในโครงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะความก้าวหน้าของระบบการแพทย์ทางไกล
นายวิทยากล่าวว่า จากแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงห่วงใยและเห็นความสำคัญของสุขภาพและอนามัยของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพของรัฐทั่วไปได้ กระทรวงสาธารณสุข ได้น้อมรับและเร่งดำเนินการสนองพระราชดำริ เพื่อพัฒนาระบบบริการในพื้นที่ทุรกันดาร ป่าเขา อยู่ห่างไกล ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีอยู่ใน 14 จังหวัด ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี ศรีษะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และกาญจนบุรี โดยพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือรพ.สต. ต่อยอดนโยบายรัฐบาล เพิ่มคุณภาพบริการ 30 บาท ให้ทั่วถึงประชาชนท้องถิ่นทุรกันดาร ที่เจ็บป่วยทั่วไป รวมทั้งผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้แก่โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ให้ได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด มีคุณภาพมาตรฐานเหมือนพื้นที่ปกติ แห่งใดที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ให้ติดตั้งโซลาเซลล์นำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้แทน และเพิ่มศักยภาพระบบเครื่องมือสื่อสาร ติดตั้งระบบการแพทย์ทางไกลทางอินเตอร์เน็ต หรือดาวเทียม เชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกับโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปที่มีแพทย์เฉพาะทางทุกโรค เพื่อให้คำปรึกษาประชาชนที่เจ็บป่วยมีอาการซับซ้อนหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินได้พบแพทย์ตรวจรักษาเหมือนไปใช้บริการที่โรงพยาบาลใหญ่ ไม่มีอุปสรรคในเรื่องของความห่างไกลอีกต่อไป ขณะนี้ดำเนินการได้แล้วร้อยละ 90 ของพื้นที่ จะให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ในปี 2556
นอกจากนี้ยังได้พัฒนาศูนย์สุขภาพชุมชนหรือศสช. ซึ่งมีอยู่แล้วประมาณ 200 แห่งในพื้นที่ 14 จังหวัด เพิ่มความสะดวกประชาชน เน้นการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเช่นฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรค และการรักษาพยาบาลเบื้องต้นเป็นหลัก มีเครื่องมือสื่อสารเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายลูกกับรพ.สต. โดยจัดอบรมบุคลากร ซึ่งเป็นประชาชนจากพื้นที่ หลักสูตรเร่งรัด 1 ปี ให้เป็นเจ้าหน้าสาธารณสุขชุมชนประจำการเพิ่มเติมจำนวน 109 คน โดยจัดอบรมที่วิทยาลัยชุมชนตาก จังหวัดตาก ซึ่งเป็นหลักสูตรผ่านการรับรองจากจากคณะกรรมการวิทยาลัยชุมชน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และสามารถศึกษาต่อถึงระดับปริญญาตรีได้ บุคลากรกลุ่มนี้จะรู้ชุมชนเป็นอย่างดี พูดภาษาถิ่นได้ และทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขในหมู่บ้านตลอด 24 ชั่วโมง ใช้งบประมาณ 5 ล้านบาท
ทางด้านนายแพทย์ปัจจุบัน เหมหงษา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก กล่าวว่า ในการผลิตพนักงานสาธารณสุขชุมชน เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก กระทรวงสาธารณสุข กับวิทยาลัยชุมชนตาก จังหวัดตาก โดยจะคัดนักเรียนที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือปีที่ 6 เข้าเรียน เป็นหลักสูตร 39 หน่วยกิต เรียนวิชาพื้นฐานวิชาชีพพยาบาลและสาธารณสุข วิชาชีพอื่นด้วย และฝึกปฏิบัติงานเพิ่มพูนทักษะที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เรียนวันละ 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 26 สัปดาห์ เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรพนักงานสุขภาพชุมชน
********************** 23 สิงหาคม 2555
View 10
23/08/2555
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ