รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนาระบบบริหารยาของประเทศให้ทันใช้ในปีงบประมาณ 2556เพื่อให้คนไทยได้ใช้ยาดี มีคุณภาพ ราคาไม่แพง เป็นมาตรฐานเดียวกัน เน้น 6 ยุทธศาสตร์หลัก อาทิการส่งเสริมให้โรงพยาบาลรัฐใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ  และยาชื่อสามัญ การต่อรองราคายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาที่มีผู้ผลิตรายเดียวและยาที่มีมูลค่าการใช้มาก เป็นต้น

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งดำเนินการพัฒนาระบบบริหารยาของประเทศตามนโยบายนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ประชาชนไทยได้ใช้ยาคุณภาพดี ราคาไม่แพง เหมาะสมกับโรค ให้เกิดความคุ้มค่าและเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะกรรมการกำหนดระบบการบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ เน้น 6 ยุทธศาสตร์หลักประกอบด้วย 1.การเจรจาต่อรองราคายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาที่มีผู้ผลิตรายเดียว และยาที่มีมูลค่าการใช้สูงเริ่มใน 4 รายการแรกได้แก่ ยาในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่มิใช่สเตียรอยด์ (NSAID) ยารักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด ยาลดน้ำตาลในเลือด และยาปฏิชีวนะ รวมถึงให้มีการเจรจาต่อรองราคาน้ำเกลือที่ผลิตในประเทศและหามาตรการป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำเกลือ 2.ส่งเสริมให้โรงพยาบาลรัฐใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติและยาชื่อสามัญเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ใช้ร้อยละ 50 เป็นให้ได้ร้อยละ 80 และจัดให้มีกลไกและระบบการประกันคุณภาพยาชื่อสามัญ 3.กำหนดแนวเวชปฏิบัติ ข้อบ่งชี้การใช้ยา การตรวจวินิจฉัยโรค และการรักษาพยาบาล
 4.พัฒนาระบบตรวจสอบการรักษาพยาบาล การตรวจวินิจฉัย แนวทางการใช้ยา และการเบิกจ่ายให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกกองทุน  5.พัฒนาบัญชียาและรหัสยามาตรฐาน เพื่อใช้ในการบริหารจัดการยาของ 3 กองทุนสุขภาพ เชื่อมโยงระบบข้อมูลสารสนเทศด้านยาของประเทศ เพื่อให้สามารถติดตามและตรวจสอบการใช้ยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ6.การปรับปรุงกลไกการจ่ายเงินโดยใช้เกณฑ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม เพื่อพัฒนาอัตราการจ่ายค่ารักษาพยาบาลในกลุ่มโรคเดียวกันในโรงพยาบาลแต่ละระดับให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
นอกจากนี้ ให้เร่งดำเนินการหามาตรการกำกับดูแลค่าใช้จ่ายด้านยาของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีสัดส่วนค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกมากถึงร้อยละ 73 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดและในจำนวนนี้เป็นค่ายาถึงร้อยละ 83 โดยหากสามารถส่งเสริมให้โรงพยาบาลรัฐใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติหรือยาชื่อสามัญเพิ่มขึ้น คาดว่าจะช่วยประหยัดงบประมาณได้ถึง 4,000 -5,000 ล้านบาท
นายวิทยากล่าวต่อว่า เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างครบถ้วน รอบด้าน เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และสามารถนำมาใช้ได้ภายในปีงบประมาณ 2556 กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะอนุกรรมการ 6 คณะดูแลรับผิดชอบในแต่ละยุทธศาสตร์ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้การดำเนินงานมีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง และจะมีการประชุมติดตามความคืบหน้าเป็นระยะทุก 1 เดือน  
 ************************************* 26 สิงหาคม 2555
 


   
   


View 10    27/08/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ