รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข วางแผนพัฒนาโรงพยาบาลตรัง เป็นศูนย์เชี่ยวชาญดูแลรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุ ทารกแรกเกิด โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง ประจำฝั่งอันดามัน 4 จังหวัด คือ ระนอง ภูเก็ต กระบี่ และพังงา เพิ่มคุณภาพบริการและสนับสนุนการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก สร้างความเชื่อมั่นด้านการแพทย์ชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เผยการดำเนินการร่วมจ่าย 30 บาท วันแรก ราบรื่นดี
วันนี้ (1 กันยายน 2555) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคารอำนวยการ ผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุฉุกเฉิน 7 ชั้น ของโรงพยาบาลตรัง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง และติดตามนโยบายการร่วมจ่ายค่าธรรมเนียม 30 บาทวันแรกที่โรงพยาบาลตรัง พร้อมมอบนโยบายแก่แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
นายวิทยา กล่าวว่า รัฐบาลนำโดยนายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่จะเพิ่มคุณภาพบริการ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี คนป่วยหายเร็ว คนปกติมีสุขภาพแข็งแรง มีระบบบริการสาธารณสุขได้มาตรฐาน และเข้าถึงบริการได้ทั่วถึงและทัดเทียม จากการติดตามนโยบายร่วมจ่ายในวันแรกวันนี้ที่โรงพยาบาลตรัง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 535 เตียง มีจำนวนผู้ป่วยมารับบริการในแผนกผู้ป่วยนอกวันละ 1,600-1,800 รายต่อวันและผู้ป่วยในวันละ 450-500 รายต่อวัน พบว่าราบรื่นดี เนื่องจากผู้บริหารมีการเตรียมการไว้อย่างดี อย่างไรก็ดีในพื้นที่ท่องเที่ยว ซึ่งฝั่งอันดามันนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยการเพิ่มความเชื่อมั่น ความมั่นใจในเรื่องของมาตรฐานบริการทางการแพทย์ หากเจ็บป่วย โดยเฉพาะการป่วยฉุกเฉิน จะได้รับการดูแลในระดับมาตรฐานสากล ให้บริการรวดเร็ว จัดระบบการรับส่งผู้ป่วยทั้งทางรถยนต์และเฮลิคอปเตอร์
สำหรับโรงพยาบาลตรัง กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายพัฒนาต่อยอดให้เป็นโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง 4 สาขาคือด้านอุบัติเหตุ ทารกแรกเกิดโรคหัวใจ และมะเร็ง ดูแลประชาชนที่อยู่ในฝั่งอันดามัน 5 จังหวัด ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง และตรัง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาให้มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งอาคารสถานที่ บุคลากร และจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ เช่น เครื่องสวนหัวใจ เครื่องมือผ่าตัดหัวใจ ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจได้ในปี 2556 นี้ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาระบบบริการผู้ป่วยอุบัติเหตุทั้งทางบกและทางทะเล เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนฝึกภาคปฏิบัติแก่นักศึกษาแพทย์ชั้นคลินิกปีที่ 4-6 ในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท และยังมีบริการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ที่เป็นจุดเด่นคือการแพทย์แผนจีน ฝังเข็มรักษาผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต รักษาอาการปวดศีรษะจากโรคไมเกรน ได้จัดสรรงบประมาณ 418.158 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุฉุกเฉิน 7 ชั้นหลังใหม่ 1 อาคาร จะเปิดให้บริการในปี 2558
******************** 1 กันยายน 2555
View 13
01/09/2555
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ