รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อร่วมมือหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาบ่อขยะพิษที่มีการลักลอบเข้าไปทิ้งในพื้นที่ อ.พนมสารคาม และอ.แปลงยาว รวม 11 จุด ผลการตรวจ น้ำเสียพบสารฟีนอล ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในบ่อน้ำกินชาวบ้าน และพบชาวบ้านเจ็บป่วยแล้วกว่า 800 ราย ส่วนใหญ่ปวดศีรษะ มึนงง ผื่นคันผิวหนัง หายใจติดขัด ให้จัดหน่วยแพทย์ตรวจสุขภาพชาวบ้านที่อยู่รอบๆบ่อขยะเต็มที่ และติดตามผลกระทบในระยะยาว พร้อมทั้งจะเสนอครม.แก้กฎหมาย ให้ท้องถิ่นร่วมตัดสินใจเรื่องปัญหาขยะพิษในพื้นที่ได้ และเสนอให้ทุกจังหวัดเอ็กซเรย์ปัญหาแหล่งขยะอันตรายในพื้นที่ เพื่อป้องกันผลกระทบประชาชน สิ่งแวดล้อม
วันนี้ (2 กันยายน 2555)นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ธวัชชัย กมลธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขประจำพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้แทนกรมอนามัย กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค เดินทางไปติดตามปัญหาการนำกากขยะอุตสาหกรรม ไปทิ้งในพื้นที่อ.พนมสารคามและอ.แปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยได้ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ที่โรงพยาบาลพนมสารคามเพื่อรับฟังปัญหาและมาตรการแก้ไขของจังหวัด จากนั้นคณะได้เดินทางไปดูพื้นที่แหล่งขยะพิษที่หมู่ 7 ตำบลหนองแหน ซึ่งเป็นบ่อดินลึก 3-10 เมตร ในพื้นที่ 15 ไร่ น้ำมีสีดำ กลิ่นฉุนมาก ชาวบ้านบอกว่ากลิ่นจะเหม็นมากภายหลังฝนตก กลิ่นฟุ้งกระจายไปไกลประมาณ 3 กิโลเมตร จากนั้นเดินทางไปตรวจบ่อทิ้งขยะที่หมู่ที่ 9 ตำบลเกาะขนุน อ.พนมสารคาม ซึ่งมีกลิ่นเหม็นแต่ไม่รุนแรงเท่ากับจุดแรก
นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวว่า รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความเป็นห่วงสุขภาพประชาชน จากปัญหาการลักลอบนำขยะพิษอันตรายไปทิ้งในพื้นที่ ได้มอบหมายให้ติดตามแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นการด่วน จากการรับฟังรายงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา พบว่าเป็นการนำกากขยะจากอุตสาหกรรมนอกพื้นที่ไปทิ้ง รวมทั้งหมด 11 จุด โดยอยู่ที่ อ.พนมสารคาม 6 จุด และที่อ.แปลงยาว 5 จุด พื้นที่ปัญหามีขนาดตั้งแต่ 1-200 ไร่ ประเภทขยะ ประกอบด้วยน้ำเสีย 7 แหล่ง ที่เหลือเป็นขยะประเภทพลาสติก มีประชาชนอาศัยบริเวณรอบๆ 3,000 คน ขณะนี้จังหวัดได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขทั้งระบบ 1 ชุด มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานชุดทำงาน ประชุมติดตามความก้าวหน้าทุกสัปดาห์ ทั้งด้านกฎหมายและการดูแลสุขภาพประชาชน
นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า สำหรับในด้านผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา จัดหน่วยแพทย์ดูแล โดยในระยะเร่งด่วนได้แจกหน้ากากอนามัยให้ประชาชน ประมาณ 10,000 ชิ้น และจัดหน่วยแพทย์เฉพาะทางจากโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลพุทธโสธร ตรวจรักษาผู้เจ็บป่วยที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 2 แห่ง ที่ตำบลหนองแหน และตำบลห้วยพลู ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2555 จนถึงปัจจุบัน มีประชาชนเจ็บป่วยเข้ารับการตรวจรักษา 838 ราย ส่วนใหญ่เจ็บคอ หายใจติดขัด ผื่นคันตามผิวหนัง ปวดศรีษะ มึนงง แสบจมูก ประชาชนสามารถรับบริการได้ตลอดเวลาฟรี ส่วนมาตรการระยะยาว เนื่องจากพิษภัยของสารเคมีในระยะแรกๆ อาจพบผลกระทบไม่มากแต่สารนี้จะสะสมในร่างกายเกิดผลในระยะยาว ที่เป็นห่วงที่สุดคือ โรคมะเร็ง โดยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2555 กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เก็บตัวอย่างน้ำจากบ่อน้ำตื้น ในหมู่บ้านที่ ตำบลหนองแหน 12 แห่ง พบมีการปนเปื้อนสารฟีนอล (Phenol) ในบ่อ 2 แห่ง ซึ่งสารดังกล่าวเป็นสารก่อมะเร็ง จึงให้ประชาชนงดการใช้น้ำบ่อมาอุปโภคบริโภค ให้ใช้แหล่งน้ำภายนอกที่ปลอดภัยแทน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดน้ำสะอาดมาให้ชาวบ้านใช้ และตั้งประปาบาดาล ที่ผลิตน้ำได้ 2,000 ลิตรต่อวัน ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาระบบประปา โดยจะขยายผลการตรวจคุณภาพน้ำในบ่อน้ำตื้นในพื้นที่อื่นๆ ด้วย
ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุข จะตรวจดูการปนเปื้อนสารโลหะหนักอันตราย ในประชาชน โดยดูจากปัสสาวะ และเลือด ต่อไป โดยเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้สุ่มเก็บตัวอย่างเลือด และปัสสาวะ ของประชาชนจากหมู่ 7 ตำบลหนองแหน จำนวน 140 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหาแมงกานีส ตะกั่ว และสังกะสี ในเลือด และตรวจหาโคเมี่ยม นิกเกิล สารปรอท สารฟีนอล ตกค้างในปัสสาวะที่สำนักโรคประกอบอาชีพ กรมควบคุมโรค ซึ่งจะทราบผลเร็วๆ นี้ ขณะเดียวกันจะเพิ่มการตรวจหาสารพทาเลส(Phthalates) ซึ่งเป็นสารที่เกิดมาจากกระบวนการผลิตพลาสติก สารชนิดนี้เป็นสารก่อมะเร็งเช่นกัน โดยจะเก็บตัวอย่างเลือด ตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และจัดหน่วยแพทย์ดูแลด้านจิตใจเพราะปัญหากลิ่นส่งผลกระทบต่อประชาชนด้วย
นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่เกิดมาจากความใส่ใจของประชาชนในพื้นที่ ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีมาก จะนำผลรายงานนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีการเอ็กซเรย์ ปัญหาการลักลอบทิ้งสารพิษอันตรายในจังหวัดอื่นๆ ด้วยเพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบ ทั้งประชาชน สัตว์เลี้ยง และสิ่งแวดล้อม และจะเสนอแก้กฎหมายให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการอนุญาตการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม หรือการกำจัดมลพิษอุตสาหกรรมในพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ในวันที่ 10-11 กันยายนนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะจัดอบรมเจ้าหน้าที่และอสม.ในการคัดกรองการรักษาเบื้องต้น และการให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ที่มีปัญหาสารพิษ เพื่อที่จะสามารถวางแผนการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง
************************ 2 กันยายน 2555
View 13
02/09/2555
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ