วิจัยเผย “ประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม ร้อยละ 51 ว่ายน้ำไม่เป็น” คนงานเกือบ 650,000คน ตกงาน เศรษฐกิจพินาศ 1.425 ล้านล้านบาท  ธนาคารโลกขึ้นแท่นจัดให้เป็นความเสียหายอันดับ 4ของโลก พร้อมนำบทเรียนกระตุ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมป้องกัน-วางแผน เป็นระบบ หวังลดสูญเสีย ชีวิตและทรัพย์สินซ้ำร้อยเดิม

วันนี้ (3 กันยายน 2555 ) ที่ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข อาคารสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ร่วมแถลงข่าวเรื่อง มหาอุทกภัยปี 2554 :บทเรียนจากประสบการณ์ ผลสังเคราะห์ข้อมูลและประสบการณ์การบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขถอดรหัส มหาอุทกภัยปี 54 สู่แผนรับมือในอนาคต
นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวว่า สถานการณ์ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ทำให้ตระหนักได้ว่า อุทกภัยตลอดจนภัยธรรมชาติต่างๆ ไม่ใช่สิ่งไกลตัวอีกต่อไป และจะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ ดังเช่นเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 ที่พวกเราคนไทยจำได้ไม่มีวันลืม และประจักษ์ชัดว่า หากไม่มีการเตรียมความพร้อม หรือขาดการทบทวนประสบการณ์ที่ผ่านมา ตลอดจนการค้นคว้าหาข้อมูลหรือการศึกษาวิจัยเพื่อรับมือกับสถานการณ์ครั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้อีก เราอาจต้องสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินซ้ำรอยเดิมหรือมากขึ้น รวมทั้งประเทศก็จะต้องเสียงบประมาณเพื่อการฟื้นฟูเยียวยาหลังภัยพิบัติมากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ไม่สามารถนำเงินไปใช้เพื่อการพัฒนาประเทศได้อย่างเต็มที่
นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและมีนโยบายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อเตรียมรับมืออย่างเป็นระบบ ได้แก่ การป้องกันและลดผลกระทบ การเตรียมความพร้อม การบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉิน และการจัดการหลังเกิดภัย โดยเรื่องการบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในเหตุการณ์ภัยธรรมชาติต่างๆ จะมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับบทบาทและวิธีดำเนินงานให้เป็นเชิงรุกที่เข้าถึงประชาชนและเข้ากับสถานการณ์ปัญหามากขึ้น เช่น การจัดทีมดูแลสุขภาพของประชาชนในชุมชน การเปิดช่องทางใหม่สายด่วนคลายเครียดช่วงน้ำท่วม 1667การดูแลเรื่องน้ำท่วมขังกับปัญหายุงลาย ฯลฯ ตลอดจนการให้ความรู้ในเรื่องที่จำเป็น เช่น การป้องกันและปฐมพยาบาลจากไฟดูด การปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากอาการบาดเจ็บต่างๆ การเตรียมยาสามัญประจำบ้านให้พร้อมใช้ เป็นต้น ซึ่งจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปีที่ผ่านมาทำให้หน่วยงานด้านสุขภาพต่างๆ ได้เรียนรู้บทเรียนจากการทำงานในสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ส่งผลดีต่อการปรับแนวทางการทำงาน เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำอีก หากต้องเผชิญภัยพิบัติในอนาคต
ทางด้าน นส.รัจนา เนตรแสงทิพย์  รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่าผลการสำรวจครัวเรือนที่ประสบภัยในพื้นที่น้ำท่วมว่า ในช่วงเดือน ก.ค. - ธ.ค. 2554 ประเทศไทยมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมถึง 61จังหวัด ในจำนวนนี้เป็นครัวเรือนที่ถูกน้ำท่วมถึง 3.9 ล้านครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 19ของครัวเรือนทั้งประเทศ และมีสมาชิกในครัวเรือน 12.9 ล้านคน หรือร้อยละ 19.6 ของประชากรทั่วประเทศ รวมถึงพบว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมร้อยละ 51.1ว่ายน้ำไม่เป็น และเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี ว่ายน้ำได้น้อยมาก ส่วนจำนวนผู้ที่ว่ายน้ำได้ มีเพียงร้อยละ 18.6เท่านั้น นอกจากนี้ ในภาคแรงงาน ส่งผลให้มีการตกงานเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในทุกภาคลดลงจากในช่วงก่อนน้ำท่วมประมาณร้อยละ 10 ส่วนการเข้าถึงบริการสุขภาพพบว่า ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมมีสมาชิกได้รับบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือเสียชีวิตจากน้ำท่วมร้อยละ 8.1ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตร้อยละ 0.3 มีสาเหตุมาจากไฟฟ้าดูด/ช๊อต เป็นต้น ทั้งนี้เชื่อว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับการวางแผนรับมือและเตรียมความพร้อมของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี
ด้าน ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี นักวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ความเสียหายจากมหาอุทกภัย ปี 2554ส่งผลให้แผ่นดินกว่า 36 ล้านไร่จมน้ำ ครอบคลุมตั้งแต่เชียงใหม่จรดกรุงเทพฯ สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน 12 ล้านคน อย่างน้อย 815 คนเสียชีวิต อย่างน้อย 5,388,204 คนกลายเป็นผู้อพยพ คนงานเกือบ 650,000 คนตกงานหรือได้รับผลกระทบ เศรษฐกิจพินาศ 1.425 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับ 7 เท่าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2554 นอกจากนี้ สำนักงานว่าด้วยกลยุทธ์ระหว่างประเทศเพื่อการลดภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNISDR) ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค ได้จัดมหาอุทกภัยครั้งนี้เป็นความเสียหายขั้นหายนะ ขณะที่ธนาคารโลกจัดอันดับความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 4 ของโลก ถัดจากสึนามิในญี่ปุ่น แผ่นดินไหวในโกเบ และเฮอริเคนแคทรีน่า ดังนั้นระบบการบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในเหตุการณ์มหาอุทกภัยจึงมีบทบาทสำคัญ และถูกคาดหวังให้เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า ในการปฏิบัติตัวในการดูแลสุขภาพในช่วงน้ำท่วมนั้น ประชาชนควรสำรวจตัวเองว่าตนเองมีความรู้เบื้องต้นด้านการดูแลสุขภาพยามที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมมากน้อยแค่ไหน เช่น เรื่องการป้องกันและปฐมพยาบาลจากไฟช็อต การช่วยเหลือตนเอง กรณีว่ายน้ำไม่เป็น การเตรียมถุงยังชีพ การเตรียมยาสามัญประจำบ้าน อนามัยส่วนบุคคลและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ทั้งนี้กรมควบคุมโรคได้จัดทำ “คู่มือสำหรับป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม” ไว้เผยแพร่ให้กับประชาชนทั่วไป โดยสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ www.ddc.moph.go.th
          นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข  กล่าวว่า ปัญหาอุทกภัยปี พ.ศ. 2554 สร้างความเสียหายแก่ประเทศและประชาชนจำนวนมาก แม้ว่าหน่วยงานต่างๆ จะได้พยายามอย่างเต็มที่ในการเยียวยาความเดือดร้อนดังกล่าว ดังนั้นหลายภาคส่วนจึงให้ความสำคัญกับการถอดบทเรียนเพื่อพลิกวิกฤติเป็นโอกาสพัฒนา โดยเฉพาะหน่วยงานด้านสุขภาพ อาทิเช่น สำนักบริหารการสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมสุขภาพจิต กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ฯลฯ ต่างได้ดำเนินการถอดบทเรียนเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการรับมือกับภัยพิบัติของหน่วยงานนั้นๆ ในโอกาสต่อไป ด้าน สวรส. ในฐานะองค์กรบริหารจัดการความรู้ในระบบสุขภาพจึงเห็นว่า บทเรียนที่หน่วยงานต่างๆ สรุปขึ้น เป็นข้อมูลและความรู้ที่มีคุณค่ายิ่ง แต่จะมีประโยชน์มากขึ้น หากได้บูรณาการความรู้ทั้งหมดเข้าด้วยกันเป็นความรู้เชิงระบบเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาอุทกภัยและภัยพิบัติอื่นๆ ในอนาคต
“สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายจากงานวิจัยครั้งนี้ มีทั้งหมด 5 เรื่อง 1.ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้แสดงบทบาทเป็นเจ้าภาพหลักในรับมือกับผลกระทบด้านสุขภาพ และควรพัฒนาบทบาทดังกล่าวให้เข้มแข็งมากขึ้นโดยร่วมมือกับเจ้าภาพส่วนอื่น 2.ควรให้ความสำคัญกับการเตรียมแผน ซ้อมแผน ทบทวนแผนเป็นระยะ 3.ควรพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศทางการแพทย์และสาธารณสุขยามภัยพิบัติ โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกภาคส่วนทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน 4.ควรหาทำเลจัดตั้งศูนย์อพยพกรณีภัยพิบัติครอบคลุมทั่วประเทศ และเตรียมความพร้อมด้านอื่น อาทิ สวัสดิการต่อชีวิตและทรัพย์สิน สุขาภิบาลอาหารและสิ่งแวดล้อม บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข กิจกรรมทางศาสนา กิจกรรมนันทนาการ 5.ควรเสริมสร้างทักษะการเตรียมความพร้อมแก่ประชาชน อาทิ ความรู้ในการป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ความรู้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ความรู้ในการติดต่อขอความช่วยเหลือ และทักษะการเอาชีวิตรอด เช่น การว่ายน้ำ การปีนต้นไม้ เป็นต้น” นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว
****************************3กันยายน  2555


   
   


View 16    03/09/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ