รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เร่งกระตุ้นประชาชนไทยออกกำลังกาย ป้องกันการเจ็บป่วย ยึดอายุยืนยาวขึ้น เผยผลสำรวจล่าสุดในปี 2554 พบในกลุ่มประชาชนอายุ 11 ปีขึ้นไปไม่ออกกำลังกายมากถึง 42 ล้านคน ขณะนี้ทั่วประเทศมีผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคอ้วนลงพุงแล้วกว่า 17 ล้านคน ขณะเดียวกันพบโรคเรื้อรังคร่าชีวิตคนไทยปีละกว่า 1 แสนราย ร้อยละ 40 มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ให้ทุกจังหวัดเร่งรณรงค์ประชาชนออกกำลังกายทุกรูปแบบ ตั้งเป้าจะให้เพิ่มให้ได้ถึง 18 ล้านคน ในปี 2556

          วันนี้ (6 กันยายน 2555) นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานมอบโล่รางวัลและเงินรางวัล แก่ผู้ชนะเลิศการแข่งขันเต้น ฮูล่าฮูป ชิงชนะเลิศระดับประเทศ ซึ่งเป็นการกระตุ้นการออกกำลังกาย เพื่อการมีสุขภาพดีและแข็งแรง ในโครงการสุขภาพดีวิถีชีวิตไทย จัดที่โรงยิมเนเซียม  4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี โดยมีผู้เข้าแข่งขันจาก 76 จังหวัด กว่า 3,000 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข หรืออสม. กลุ่มแม่บ้าน ประชาชนทั่วไป อายุ 15-50 ปี          
 
          นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี  มีนโยบายเร่งด่วนด้านสาธารณสุขในการพัฒนาระบบประกันสุขภาพ โดยเร่งให้ลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเจ็บป่วยของประชาชนทั้งโรคติดเชื้อทั่วไป โรคภูมิแพ้ต่างๆ และโรคเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และโรคมะเร็ง ซึ่งคนไทยป่วยและเสียชีวิตกันมากที่สุด และ  5 โรคนี้เป็นปัญหารุนแรงระดับโลก ต้นเหตุสำคัญ มาจาก 3 เหตุได้แก่ 1.ขาดการออกกำลังกาย ทำให้น้ำหนักตัวเกินมาตรฐานและก่อให้เกิดโรคอ้วนและโรคเรื้อรัง 2.รับประทานอาหารประเภทผักและผลไม้ซึ่งเป็นอาหารที่ให้กากใย ช่วยในการขับถ่าย ขับไขมัน คลอเลสเตอรอลออกจากร่างกาย และ3.การบริโภคสารทำลายสุขภาพ ได้แก่สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  
 
           ผลการสำรวจพฤติกรรมการออกกำลังกายของประชาชน อายุ 11 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศที่มี 57.7 ล้านคนโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2554 พบว่า มีผู้ออกกำลังกายเพียงร้อยละ 26 หรือ 15 ล้านกว่าคน ลดลงจากปี 2550 ที่มีเกือบร้อยละ 30 ชี้ให้เห็นว่าประชาชนไทยส่วนใหญ่คือ  42 ล้านคน กำลังใช้ชีวิตบนความเสี่ยง ทั้งโรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพราะไม่ออกกำลังกาย ขณะเดียวกันจากรายงานผลการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อในประเทศไทย ของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2553 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคเรื้อรัง ปีละกว่า 1 แสนคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของการเสียชีวิตทุกสาเหตุ โดยผู้เสียชีวิตร้อยละ 40 มีอายุน้อยกว่า 60 ปี การรักษาพยาบาลประมาณปีละ 300,000 ล้านบาท โดยมีรายงานว่ากลุ่มคนไทยอายุ  15 ปีขึ้นไป มีภาวะอ้วน และอ้วนลงพุงแล้วกว่า 17 ล้านคน มีความเสี่ยงสูงที่จะเจ็บป่วยเป็นโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้นอีก หากปล่อยสถานการณ์เช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ประชาชนจะมีอายุสั้นลงไปเรื่อยๆ มีผลกระทบต่อประเทศไทยหลายด้าน
 
          นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวต่อไปว่า การจัดการแข่งขันเต้นฮูล่าฮูปครั้งนี้ จะเป็นการสร้างกระแสปลูกฝังพฤติกรรมการออกกำลังกาย ลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยจากโรคดังกล่าว ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีไทยพ.ศ.2555-2559 ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง โดยกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าจะกระตุ้นให้ประชาชนออกกำลังกายเพิ่มขึ้นให้ได้ถึงร้อยละ 30 ของประชากรอายุ 11 ปีขึ้นไป หรือให้ได้เกือบ 18 ล้านคนภายในปี 2556      
                                                                       
          นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการแข่งขันเต้นฮูล่าฮูปรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศในวันนี้ มี 2 ประเภท ได้แก่ 1.ประเภททีมลีลา ความสวยงามและความพร้อมเพรียง รวมทั้งหมด 67 ทีม ทีมละ 30 คน แบ่งเป็น  2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มชนะเลิศระดับภาค  20 จังหวัด ได้แก่อุตรดิตถ์ พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำพูน กำแพงเพชร สุรินทร์ มหาสารคาม นครพนม ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ ลพบุรี ตราด ชลบุรี จันทบุรี สิงห์บุรี พัทลุง สงขลา สุราษฏร์ธานี ระนอง และตรัง ผู้ชนะเลิศอันดับ 1-5 ได้รับเงินรางวัลรวม 110,000 บาท กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มทีมเข้าแข่งขันจาก 47 จังหวัดที่ไม่ติดอันดับระดับภาค จำนวน 47 ทีม ผู้ชนะเลิศอันดับ 1-5 ได้รับเงินรางวัลรวม 80,000 บาท
   
          ประเภทที่ 2 ได้แก่ อูลาฮูปมาราธอน นานกว่า 3 ชั่วโมงขึ้นไป มีตัวแทนจังหวัดร่วมแข่งขันจังหวัดละ 1 คน เต้นได้นานที่สุด รวมเงินรางวัลกว่า 5 หมื่นบาท นอกจากนี้ภายในงานยังมีนิทรรศการให้ความรู้การดูแลสุขภาพ การควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยใช้หลัก 3 อ. 2 ส. กล่าวคือ อ.ที่ 1 เน้นไม่อดอาหาร แต่เปลี่ยนเป็นการกินอาหารธรรมชาติ และผักผลไม้ ทุกมื้อ ลดอาหารรสหวาน มัน เค็ม อ.ที่ 2  ออกกำลังกาย  เป็นประจำอย่างน้อย สัปดาห์ละ 3 วันครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที อ.ที่ 3 ทำอารมณ์ให้แจ่มใส มองโลกในแง่บวก ส่วน 2 ส. ประกอบด้วย ส.ที่ 1คือ งด หรือเลิกสูบบุหรี่  ส.ที่ 2 คือ งดหรือเลิกดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดและยังมีการสาธิตเมนูอาหาร ลดหวาน มัน เค็ม การสาธิตรูปแบบออกกำลังกายอื่นๆ มีเวทีเสวนาให้ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การดูแลสุขภาพ และชมมินิคอนเสิร์ตฟรี
 
****************** 6 กันยายน 2555


   
   


View 10    06/09/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ