รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผลงาน 365 วันกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการดูแลสุขภาพประชาชน บรรลุ 3 นโยบาย 100 เปอร์เซ็นต์ สร้างผลงานชิ้นโบว์แดงนโยบายเร่งด่วน โดนใจประชาชนมากที่สุด คือโครงการ 30 บาทยุคใหม่เพิ่มคุณภาพ การบูรณาการ 3 กองทุนดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินราบรื่น โอกาสรอดชีวิตสูงถึงร้อยละ 90.5 ก้าวต่อไปจะบูรณาการให้ยาต้านไวรัสเอดส์ และโรคไตวาย เริ่มเดือนหน้านี้เป็นต้นไป และสร้างชุดแพทย์สนามระดับสูง เพิ่มในระบบบริการการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติอีก 14 ทีม มั่นใจความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง
วันนี้ (7 กันยายน 2555) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงผลงาน “365 วันกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการดูแลสุขภาพประชาชน” ที่กระทรวงฯดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ครบ 1 ปี ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการ ผลการดำเนินงานที่โดดเด่นของหน่วยงานในสังกัด อาทิ โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค บริการการแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน(Telemedicine) โครงการ 70 ปีไม่มีคิว โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ์ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น โครงการศูนย์สุขภาพของเอเชียและนานาชาติ หรือเมดิคัล ฮับ (Medical Hub and Spa) ฯลฯ บริการตรวจสอบสิทธิ์ 30 บาทและเปลี่ยนสถานบริการทางระบบออนไลน์ โดยใช้หลักฐานเพียงบัตรประชาชนใบเดียว บริการตรวจวัดสายตาและแจกแว่นตาฟรี นำยาเก่าที่ไม่ได้ใช้มาแลกไข่ใหม่ นอกจากนี้ยังให้ประชาชนนำแปรงสีฟันเก่ามาแลกแปรงสีฟันใหม่ แจกถุงยางอนามัย ยาทากันยุง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยาหม่องสมุนไพรใช้บรรเทาอาการปวดเมื่อยและกันยุง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเครื่องครัว ฟรี และเกมชิงรางวัล บัตรกำนัลส่วนลดสปาเพื่อสุขภาพด้วย
นายวิทยากล่าวว่า ภายหลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2554 ได้กำหนดนโยบาย 14 เรื่อง เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาระบบสุขภาพของไทย ทั้ง 3 ด้านให้บรรลุเป็นรูปธรรม ได้แก่ นโยบายเร่งด่วน นโยบายด้านความมั่นคงแห่งรัฐและนโยบายด้านสังคมและคุณภาพชีวิต ผลการดำเนินการครบ 1 ปี พบว่าบรรลุผล 100 เปอร์เซนต์ ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนล่าสุดของสวนดุสิตโพลเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 ให้คะแนนผลงานกระทรวงสาธารณสุขสูงอันดับ 2 จากทั้งหมด 19 กระทรวง ได้ 6.47 จาก 10 คะแนน เลื่อนจากผลสำรวจเมื่อเดือนธันวาคม 2554 ที่อยู่ในลำดับ 3 ได้ 6.44 คะแนน นอกจากนี้ นิด้าโพลล์ ยังสำรวจความพึงพอใจของประชาชนต่อผลการดำเนินงาน 16 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล พบว่าการพัฒนาระบบประกันสุขภาพเป็นนโยบายเร่งด่วนชิ้นโบว์แดงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด
ทั้งนี้ ผลงานนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในด้านสาธารณสุข มี 4 เรื่อง ได้แก่ 1.พัฒนาระบบประกันสุขภาพ ต่อยอดเป็น 30 บาทยุคใหม่เพิ่มคุณภาพ ขณะนี้คนไทยร้อยละ 99.85 หรือ 64.3 ล้านคนมีหลักประกันสุขภาพ ในจำนวนนี้เป็นสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค 48.5 ล้านคน โดยได้บูรณาการสิทธิลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐคือประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เริ่มต้นในด้านบริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน อันดับแรกเมื่อ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นมา ในโครงการ “เจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น” ผู้ป่วยได้รับบริการอย่างรวดเร็ว จนถึงล่าสุดช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ 2,638คน การรอดชีวิตมีสูงถึงร้อยละ 90.5 เอแบคโพลล์ สำรวจเมื่อ 31 พฤษภาคม 2555 พบว่าประชาชนให้คะแนนพึงพอใจเป็นอันดับ 1 จาก 19 โครงการเร่งด่วนของรัฐบาล ช่วงต่อไปจะขยายบริการอีก 2 เรื่องคือ การให้ยาต้านไวรัสในผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ และให้บริการล้างไตผ่านทางช่องท้องในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 เป็นต้นไป
ในการพัฒนาระบบบริการในโรงพยาบาล ได้เร่งลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาลใหญ่ เพิ่มศักยภาพบริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือรพ.สต. 9,750 แห่ง ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง 226 แห่ง และพัฒนาศูนย์สุขภาพชุมชนในถิ่นทุรกันดารพื้นที่ป่าเขาอีก 200 แห่ง ให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้สะดวก รวดเร็วขึ้น เพิ่มระบบการแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน(Telemedicine) ให้ประชาชนที่ใช้บริการที่รพ.สต.ได้พบแพทย์เฉพาะทาง ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ กระจายแพทย์ให้บริการที่รพ.สต. ช่วยประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายจากการเดินทางและค่าเสียโอกาสได้ 4 เท่า นอกจากนี้ยังให้คนไทยได้ใช้ยาดีอย่างมีเหตุผล โดยยกระดับมาตรฐานผู้ผลิตยาในประเทศได้จีเอ็มพีทุกแห่ง เพิ่มตำรับยาสมุนไพรเป็น 75 รายการเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2555 และจัดโครงการ“ไข่ใหม่แลกยาเก่า”ให้ความรู้ กระตุ้นให้ประชาชนใช้ยาทุกชนิดอย่างถูกต้อง
2.การบำบัด รักษา ฟื้นฟู ผู้เสพยาและสารเสพติด ได้ให้การบำบัดผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดทั้งหมด 408,776 ราย ทะลุเป้าหมายที่กำหนด 400,000 ราย และอบรม อสม.เชี่ยวชาญยาเสพติด 116,186 คน คอยติดตามดูแลช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดแล้วไม่ให้หวนกลับไปเสพติดซ้ำ 3.พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้พัฒนามัสยิดส่งเสริมสุขภาพ 2,125 แห่งจากทั้งหมด 3,228 แห่ง และพัฒนาอาหารในโรงพยาบาลทั่วประเทศที่มีชุมชนมุสลิมให้ได้มาตรฐานอาหารฮาลาล โดยใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ มีทั้งหมด 68 แห่ง ขณะนี้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดแล้ว 62 แห่ง และเน้นให้หญิงตั้งครรภ์ฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ และคลอดในสถานบริการของรัฐเพื่อลดอัตราตายทารกแรกเกิด
และ4.การสร้างความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน พ.ศ.2558 ได้ยกมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าโอท็อป (OTOP) ทั่วประเทศ ทั้งอาหารแปรรูป อาหารพร้อมปรุงและอาหารบรรจุเสร็จ ให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพีขั้นพื้นฐาน (Primary GMP)ทั้งหมด และได้จัดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน 10 ประเทศ ครั้งที่ 11 ที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 2-6 กรกฎาคม 2555 โดยได้ลงนามข้อตกลงบันทึกความเข้าใจความร่วมมือแก้ไขปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญร่วมกัน อาทิ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง บุหรี่ แอลกอฮอล์ หลักประกันสุขภาพโรคติดต่อ เช่น เอชไอวี การรองรับสาธารณภัย อาหาร กำลังคน การแพทย์พื้นบ้าน รวมทั้งยาและวัคซีน และพัฒนาสถานบริการให้ได้มาตรฐานรองรับการเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพทั้งบุคลากรและสถานที่
ผลงานนโยบายด้านความมั่นคงแห่งรัฐ มี 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การจัดทำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ รวม 453 โครงการ อาทิโครงการสนองน้ำพระราชหฤทัยในหลวงทรงห่วงใยสุขภาพประชาชน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ได้ตรวจคัดกรองเบาหวาน ความดันโลหิตสูงกว่า 22 ล้านคนหรือกว่าร้อยละ 90 ของประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไป ในกลุ่มพระภิกษุตรวจประมาณ 147,000 รูป ผู้นำศาสนาอื่นๆเกือบ 6,000 คน เป็นการบริการเชิงรุกของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อลดผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ ให้ได้รับการดูแลรักษา ลดความพิการแทรกซ้อน และป้องกันคนปกติไม่ให้กลายเป็นผู้ป่วย
2.การรองรับสาธารณภัย จากเหตุการณ์มหาอุทกภัย พ.ศ. 2554 ได้จัดทีมแพทย์ฉุกเฉิน ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชน 9,854 ครั้ง ตั้งโรงพยาบาลสนาม 17 แห่ง มีผู้เจ็บป่วยกว่า 2 ล้านราย ตรวจคัดกรองสุขภาพจิต 125,762 ราย ผลดำเนินการในพื้นที่ประสบภัยทุกแห่ง ไม่มีโรคระบาด และไม่มีผู้ฆ่าตัวตายจากความเครียดภายหลังประสบภัย นับว่าเป็นความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม
ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มชุดแพทย์สนามระดับสูงหรือเมิร์ท (MERT)ในระบบบริการในภาวะภัยพิบัติทุกเหตุการณ์อีก 14 ทีม บุคลากรกว่า 200คน มั่นใจในระบบความพร้อม จะสามารถรับมือกับอุบัติภัยทุกเหตุการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง และ3. การดูแลแรงงานต่างด้าวและบุคคลที่ไม่มีสถานะชัดเจน ให้เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพทั้งตนเองและครอบครัว เพื่อป้องกันโรคที่มาจากแรงงานต่างด้าว โดยได้ตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าว 856,390 คน และบุคคลไม่มีสถานะชัดเจน 459,306 คน จัดทำระบบฐานข้อมูลด้านสุขภาพของประชากรต่างด้าว และจัดทำแผนแม่บทการแก้ปัญหาและพัฒนางานสาธารณสุขชายแดน ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2555-2559 ในพื่นที่ 31 จังหวัด มุ่งสู่การมีสุขภาพดีที่ชายแดน
สำหรับผลงานนโยบายด้านสังคมและคุณภาพชีวิตด้วยการพัฒนาสุขภาพของประชาชนมี 7 เรื่อง ได้แก่ 1.การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มวัยและผู้พิการ มีหลายโครงการอาทิ โครงการ 70 ปีไม่มีคิว ให้โรงพยาบาลทุกแห่งบริการผู้สูงอายุโดยไม่ต้องรอคิว จัดช่องทางด่วนให้ผู้พิการ ปรับปรุงทางลาด ห้องสุขา ขณะนี้รพ.ศูนย์และรพ.ทั่วไปทำได้ร้อยละ 88 รพ.ชุมชนร้อยละ 92 และรพ.สต.ร้อยละ 76 จะครบ 100 เปอร์เซ็นต์ในปี 2556 โครงการลดโรคเพิ่มสุข กลุ่มวัยรุ่น ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ จัด 1 โรงเรียน 1 คลินิก ป้องกันปัญหายาเสพติดและการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในนักเรียน เริ่มแห่งแรกแล้วที่ รร.สามเสนวิทยาลัย โครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสตรีอายุ 30-60 ปี ด้วยวิธีแป็ปสเมียร์ 827,603 ราย 2.มาตรการสร้างสุขภาพดี อาทิ โครงการอาหารปลอดภัย เพื่อครัวไทยเป็นครัวโลก ให้โรงพยาบาลทุกแห่งมีเมนูชูสุขภาพ โครงการสุขภาพดี แท็กซี่ไทย จัดอบรม ตรวจสุขภาพผู้ขับขี่และความสะอาดรถแท็กซี่ เพื่อป้องกันโรคติดต่อ เริ่มในพื้นที่กทม.และปริมณฑล 1,000 คัน
3.ขับเคลื่อนให้ไทยเป็นเลิศในผลิตภัณฑ์ การบริการด้านสุขภาพ และการรักษาพยาบาลในภูมิภาคเอเชีย โดยพัฒนาสถานบริการได้มาตรฐานนานาชาติ 22 แห่ง มีบริการต่อวีซ่า ล่ามแปลภาษา ซึ่งมากอันดับ 1 ในเอเชีย พัฒนาสปาเพื่อสุขภาพได้ระดับสากล 33 แห่ง และขยายเวลาพำนักชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามารับการรักษาในประเทศไทยจาก 30 วันเป็น 90 วันโดยไม่ต้องทำวีซ่า เริ่มใน 5 ประเทศกลุ่มสมาชิกอ่าวอาหรับได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ รัฐกาต้าร์ รัฐคูเวต รัฐสุลต่านโอมาน และรัฐบาห์เรน4.ส่งเสริมประชาชนออกกำลังกายและเล่นกีฬา ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ 1 พ.ศ. 2555-2564 5.พัฒนาขีดความสามารถของอสม. ให้เป็นอสม.เชี่ยวชาญยาเสพติด โรคเรื้อรัง ดูแลประชาชนในภาวะวิกฤต 271,185 คน 6.การลงทุนด้านบริการสุขภาพ มีการก่อสร้างหน่วยบริการใหม่ 344 รายการ จัดหาครุภัณฑ์จำเป็น 238 รายการ รวมมูลค่าทั้งสิ้น 2,245 ล้านบาทและ7.ผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขให้เพียงพออัตราการผลิตแพทย์ปีละ 2,500 คน ทันตแพทย์ปีละ 800 คน พยาบาลวิชาชีพปีละ 5,000 คน และปรับการผลิตโดยคัดเลือกนักเรียนในพื้นที่เข้าศึกษามากขึ้น เพื่อให้กลับไปทำงานในภูมิลำเนา
************************************* 7 กันยายน 2555