รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แนวโน้มคนไทยตายในที่อับอากาศสูงขึ้น ในรอบ 3 ปีพบเสียชีวิตมากถึง 24 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 71 ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ ผู้เสียชีวิตพบว่ากว่าครึ่งเป็นผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ แนะนำคนงานที่ทำงานในอุโมงค์ ท่อ ห้องใต้ดิน อย่าลงทำงานเพียงลำพัง ต้องมีเพื่อนร่วมงานอย่างน้อย 3 คน คอยช่วยเหลืออยู่บริเวณรอบๆ และต้องตรวจปริมาณออกซิเจนก่อนลงไปปฏิบัติงานทุกครั้งและต้องมีระดับออกซิเจนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 19.5 และไม่เกินร้อยละ 23.5
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้เป็นวันแรงงานแห่งชาติ ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานประมาณ 45 ล้านคน โดยส่วนหนึ่งจะต้องทำงานในที่เป็นหลุม บ่อ ท่อต่างๆ เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจมากๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา สำนักระบาดวิทยารายงานว่ามีสถานการณ์การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำงานในที่อับอากาศ (confined space) เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น เกิดในอุโมงค์ ถ้ำ บ่อหลุม ท่อ ห้องใต้ดิน ห้องนิรภัย ถังน้ำมัน ถังหมัก เตา ไซโลข้าว โดยในรอบปี 2546 - 2549 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจากการทำงานในที่อับอากาศ 8 ครั้ง มีผู้ป่วย 34 ราย และเสียชีวิต 24 ราย อัตราป่วยตายสูงถึงร้อยละ 71 โดยเกิดขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรม 7 ครั้ง และอีก 1 ครั้ง เกิดขึ้นที่บ่อน้ำ บริเวณทุ่งนา จังหวัดที่เกิดเหตุ ได้แก่ อ่างทอง ระยอง สมุทรปราการ ขอนแก่น นครราชสีมา ราชบุรี และกำแพงเพชร
นายแพทย์มงคลกล่าวว่า จากการวิเคราะห์ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พบว่าประมาณร้อยละ 60 ของการเสียชีวิตในที่อับอากาศเกิดจากการขาดออกซิเจน และมากกว่าร้อยละ 56 เป็นผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ โดยไม่มีการตรวจสอบสภาพอากาศก่อนเข้าไปทำงานหรือให้การช่วยเหลือ โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรม การบาดเจ็บและเสียชีวิตส่วนใหญ่มีสาเหตุหลัก 4 ประการได้แก่ 1. การขาดออกซิเจนหรือมีปริมาณมากเกินไป 2. จากไฟไหม้ ไฟดูด ความร้อน หรือการระเบิด 3. การสัมผัสสารพิษ ก๊าซพิษ ฝุ่น และ 4. การจมน้ำหรือตกลงไปในถังที่มีสารเหลว
ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการสอบสวนเหตุการณ์ที่ทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตมากที่สุดคือ การเสียชีวิตของคนงานโรงสีข้าวจำนวน 8 ราย ที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อพ.ศ.2547 จากการที่คนงาน 1 คนเสียชีวิตขณะลงไปทำความสะอาดในหลุมกระพ้อข้าวที่มีความลึก 3.5 เมตร ปากหลุมกว้างเพียง 0.5 1 เมตร จากนั้นมีคนงานและหน่วยกู้ภัยอีก 7 คนลงไปช่วย ทำให้เสียชีวิตอีก 6 ราย ซึ่งจากการตรวจวัดปริมาณออกซิเจนที่ก้นหลุมมีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น และมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ร้อยละ 10 จึงทำให้ขาดอากาศหายใจ และยังมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณทุ่งนาที่จังหวัดกำแพงเพชร มีผู้เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ เป็นเกษตรกรครอบครัวเดียวกัน รวม 3 ราย แบ่งเป็นผู้ประสบเหตุ 1 ราย และเป็นผู้ช่วยเหลือ 2 ราย จากการลงไปทำความสะอาดตรวจเช็คปั๊มสูบน้ำในก้นบ่อที่ลึก 10 เมตร
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สำนักระบาดวิทยา จัดทำคำแนะนำความปลอดภัยในการทำงานในพื้นที่อับอากาศ โดยให้สถานประกอบการที่ดำเนินกิจกรรมในที่เป็นโพรง หลุมลึกลงไปใต้ดิน ควรมีการอบรมและจัดทำข้อปฏิบัติด้านความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทำงาน โดยต้องตรวจสอบปริมาณอากาศและวัดการปนเปื้อนสารพิษอันตรายก่อนเข้าลงไปทำงานทุกครั้ง ค่าระดับออกซิเจนต้องมากกว่าร้อยละ 19.5 และไม่เกินร้อยละ 23.5 ซึ่งเป็นค่าปกติในอากาศทั่ว ๆ ไปที่ร่างกายต้องการคือร้อยละ 20 ควรตรวจระบบการระบายอากาศให้พร้อมต่อการทำงาน โดยหากตรวจพบที่อับอากาศมีการปนเปื้อนสารอันตรายต้องรีบทำความสะอาดรอบ ๆ บริเวณทันทีและสม่ำเสมอ
ในการทำงานในที่อับอากาศ แนะนำให้มีคนงานอย่างน้อย 3 คนขึ้นไป มีการมอบหมายหน้าที่อย่างชัดเจน โดยให้ลงไปปฏิบัติงาน 1 คน อีก 1 คนประจำอยู่ปากหลุมหรือที่ทางขึ้นลง ที่เหลืออีก 1 คน เป็นผู้คอยช่วยเหลืออยู่บริเวณรอบนอก หากพบความผิดปกติจะได้ช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ประการสำคัญต้องจัดหาเครื่องมือป้องกันตนเองและช่วยชีวิตอย่างสมบูรณ์ และมีอุปกรณ์สำหรับลากจูงขึ้นจากก้นหลุมลึก นายแพทย์ปราชญ์กล่าว
******************************* 1 พฤษภาคม 2550
View 11
01/05/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ